Date  
22nd January 2024

เก็บเล็กผสมน้อยจนได้เงินก้อน อยากนำไปออมแต่ก็ตัดสินใจไม่ได้ว่าควรฝากธนาคารเพื่อกินดอกเบี้ย หรือนำไปซื้อประกันสะสมทรัพย์ดี แบบไหนที่จะต่อยอดให้เงินงอกเงยได้มากกว่ากัน หรือให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า เพื่อช่วยให้การตัดสินใจของคุณง่ายขึ้น เราจะพาไปรู้ถึงความแตกต่างระหว่างการฝากธนาคาร VS ประกันสะสมทรัพย์ รวมถึงวิธีเลือกรูปแบบการออมที่เหมาะสมกับตนเองมาบอกกัน

 

เปรียบเทียบความต่างของการฝากธนาคาร VS ประกันสะสมทรัพย์

 

ฝากธนาคาร

 

การฝากเงินกับธนาคารเป็นหนึ่งในวิธีออมเงินที่ได้รับความนิยมมาก เนื่องจากสามารถฝากและนำเงินออกมาได้ง่ายเพียงมีบัญชีธนาคาร โดยมีรายละเอียด ดังนี้

 

● ความเสี่ยง ความมั่นคงในการฝากเงินกับธนาคารจะขึ้นอยู่กับสถาบันการเงินที่เรานำเงินไปฝาก ซึ่งถือว่าเป็นทางเลือกที่มีความเสี่ยงต่ำ เนื่องจากเงินฝากจะได้รับความคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (DIC) โดยตรงจากภาครัฐ ซึ่งจะให้การคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ฝากเงิน ในกรณีที่ธนาคารล้มละลาย หรือประสบปัญหาจนถูกเพิกถอนใบอนุญาต ให้ยังคงได้รับเงินคืนสูงสุด 1 ล้านบาท ต่อ 1 รายผู้ฝาก ต่อสถาบันการเงิน 1 แห่ง แต่อาจมีความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อ

 

● ผลตอบแทน ธนาคารจะจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากให้ตามอัตราที่กำหนดไว้ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยเงินฝากจะแตกต่างกันไปตามประเภทของบัญชีเงินฝากและระยะเวลาการฝาก แต่โดยทั่วไปแล้ว อัตราดอกเบี้ยเงินฝากจะอยู่ที่ 0.1% - 2% ต่อปี ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับการลงทุนประเภทอื่น

 

● สภาพคล่อง การฝากเงินกับธนาคารสามารถเบิกถอนเงินฝากได้ตลอดเวลาตามต้องการ ซึ่งนับว่ามีสภาพคล่องค่อนข้างสูง จึงช่วยลดความเสี่ยงด้านการเงินได้เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน

 

● ระยะเวลา หากเป็นการฝากออมทรัพย์จะสามารถฝากเงินได้โดยไม่จำกัดระยะเวลา แต่หากเป็นการฝากประจำจะสามารถเลือกฝากเงินได้หลายระยะเวลา ตั้งแต่ 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี หรือมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการ

 

● ภาษี ดอกเบี้ยเงินฝาก หากดอกเบี้ยเงินฝากไม่เกิน 20,000 บาท ธนาคารจะไม่หักภาษี ณ ที่จ่าย แต่หากได้รับดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์จากทุกธนาคารรวมกันเกิน 20,000 บาท ธนาคารจะหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 15% ของดอกเบี้ยที่ได้ทันที

 

● ความคุ้มครอง การฝากเงินกับธนาคารไม่สามารถคุ้มครองร่างกาย หรือสุขภาพได้ แต่จะให้การคุ้มครองเพียงเงินฝากที่อยู่ในธนาคารเท่านั้น

 

● ความเหมาะสม การฝากเงินกับธนาคารเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการออมเงินอย่างปลอดภัย ได้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ และมีความยืดหยุ่นในการเบิกถอนเงิน

 

ประกันสะสมทรัพย์

 

ประกันสะสมทรัพย์เป็นรูปแบบหนึ่งของประกันชีวิตที่ให้ความคุ้มครองชีวิตและผลตอบแทนในระยะยาว โดยมีรายละเอียด ดังนี้

 

● ความเสี่ยง ประกันสะสมทรัพย์นับว่ามีความเสี่ยงต่ำเมื่อเทียบกับการลงทุนประเภทอื่น แต่อาจมีความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อ จึงต้องวางแผนการเงินให้ดีก่อนเลือกซื้อ

 

● ผลตอบแทน จะแตกต่างกันไปตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ เช่น ระยะเวลาเอาประกันภัย ระยะเวลาการชำระเบี้ยประกันภัย แต่จะสูงกว่าการฝากเงินกับธนาคาร ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะได้รับผลตอบแทนเฉลี่ย 2% ต่อปี เมื่อครบ กำหนดสัญญา

 

● สภาพคล่อง ประกันสะสมทรัพย์มีสภาพคล่องน้อย เนื่องจากไม่สามารถเบิกถอนเงินออกมาใช้ได้ก่อนครบกำหนดสัญญา ต้องรอจนครบอายุกรมธรรม์ถึงจะได้รับเงินทุนประกันคืน ยกเว้นในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต หรือ ใช้สิทธิเวนคืนกรมธรรม์ แต่มูลค่าเงินเวนคืนที่ได้อาจน้อยกว่าเบี้ยประกันภัยที่ชำระมาแล้ว

 

● ระยะเวลา ส่วนใหญ่แล้วจะ เป็นประกันระยะสั้น ที่จะต้องชำระค่าเบี้ยประกันจนครบ 5 ปี หรือ 10 ปี เป็นอย่างน้อย โดยอาจมีระยะเวลาคุ้มครองให้เลือกตั้งแต่ 5 ปี ไปจนถึง 20 ปี

 

● สิทธิประโยชน์ทางภาษี สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 100,000 บาทต่อปี ทั้งนี้ เงื่อนไขเป็นไปตามที่กรมสรรพากรกำหนด

 

● ความคุ้มครอง ผู้เอาประกันภัยจะได้รับความคุ้มครองชีวิต โดยหากเสียชีวิต บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทายาทโดยธรรม หรือผู้รับประโยชน์ที่ระบุไว้ในกรมธรรม์

 

● ความเหมาะสม ประกันสะสมทรัพย์เหมาะสำหรับผู้ที่มีเงินเย็นอยู่แล้วและอยากได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าการฝากเงินกับธนาคาร แต่ยังคงมีความเสี่ยงต่ำกว่าการลงทุนประเภทอื่น โดยสามารถรอผลตอบแทนระยะยาวได้ ซึ่งผลประโยชน์ที่ได้รับจากประกันเมื่อครบกำหนดสัญญา จะเป็นเงินส่วนที่ได้รับการยกเว้นภาษี อีกทั้งบางแผนประกันอาจมีการจ่ายผลประโยชน์เพิ่มเติม เป็นเงินคืนระหว่างสัญญา หรือเงินปันผลตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์

 

 

ฝากธนาคาร VS ประกันสะสมทรัพย์ เลือกแบบไหนดีกว่ากัน?

 

ในการจะพิจารณาว่าระหว่างฝากธนาคาร VS ประกันสะสมทรัพย์ ควรเลือกแบบไหนดี จำเป็นจะต้องใช้ปัจจัยเหล่านี้ ประกอบการตัดสินใจ

 

เป้าหมายในการออมเงิน

 

ถามตัวเองให้ดีว่า เป้าหมายในการออมเงินของคุณเป็นแบบไหน โดยหากต้องการเก็บเงินไว้ใช้ยามฉุกเฉิน หรือเพื่อหมุนเวียนค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในอนาคต เงินฝากธนาคารอาจเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมกว่า เนื่องจากมีสภาพคล่องสูง สามารถเบิกถอนเงินออกมาใช้ได้เมื่อต้องการ แต่หากต้องการเก็บเงินก้อนใหญ่เพื่อสร้างความมั่นคงในระยะยาว เช่น การเก็บเงินซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือเพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายของครอบครัวในอนาคต ประกันสะสมทรัพย์อาจเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมกว่า เนื่องจากมีระยะเวลาการออมนานกว่า และสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ อีกทั้งผลตอบแทนจากกรมธรรม์ประกันชีวิตยังได้รับการยกเว้นการเสียภาษีอีกด้วย

 

ความเหมาะสมกับสภาพคล่องทางการเงินของตนเอง

 

สำหรับผู้ที่มีเงินเย็นและมีสภาพคล่องทางการเงินสูงที่ต้องการออมเงินเพื่อวางแผนระยะยาว แน่นอนว่าประกันสะสมทรัพย์ย่อมเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า เนื่องจากมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงในระยะยาว แต่หากยังมีค่าใช้จ่ายที่ต้องคำนึงถึงและต้องการมีเงินสำรองไว้ใช้ยามฉุกเฉิน การฝากเงินกับธนาคารที่สามารถเบิกถอนได้ทุกเมื่อก็อาจเป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์มากกว่า

 

ระยะเวลาในการออม

 

การเลือกระยะเวลามีความสัมพันธ์กับเป้าหมายและสภาพคล่องในการออมเงิน ซึ่งสำหรับผู้ที่มีเป้าหมายใหญ่ มีสภาพคล่องสูงและต้องการวางแผนออมเงินในระยะยาว ประกันสะสมทรัพย์อาจเป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์! เนื่องจากมีระยะเวลาการฝากยาวนาน อีกทั้งยังอาจได้ผลตอบแทนที่สูงกว่า แต่สำหรับผู้ที่มองหาการออมเงินระยะสั้นโดยไม่มีความเสี่ยง การฝากกับธนาคารก็อาจเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด

 

ผลตอบแทนที่ต้องการ

 

หากต้องการผลตอบแทนที่สม่ำเสมอและแน่นอน เงินฝากธนาคารก็นับว่าเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม เนื่องจากมีอัตราดอกเบี้ยที่ชัดเจนและแน่นอน แต่หากต้องการผลตอบแทนที่สูงขึ้น ประกันสะสมทรัพย์อาจเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจกว่า เนื่องจากมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงในระยะยาว

 

ได้รู้ถึงข้อแตกต่างระหว่างการฝากธนาคาร VS ประกันสะสมทรัพย์ ให้ได้เลือกพิจารณากันไปแล้ว สำหรับใครที่สนใจและต้องการเลือกซื้อประกันสะสมทรัพย์ ขอแนะนำ PRUSavings Plus 10/4 จาก Prudential ที่ให้ความคุ้มครองยาวถึง 10 ปี เพียงชำระค่าเบี้ยประกันระยะสั้นเพียง 4 ปี! พร้อมรับเงินคืน 5% ทุกปี อีกทั้งยังสามารถนำค่าเบี้ยประกันภัยไปใช้สูงสุดถึง 100,000 บาท ทั้งนี้ เงื่อนไขเป็นไปตามที่กรมสรรพากรกำหนด เช็กค่าเบี้ยประกันภัยออนไลน์ได้เลย

 

ข้อมูลอ้างอิง

1. ข้อแตกต่าง “ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์” และ “บัญชีเงินฝากออมทรัพย์”. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 จาก https://www.prachachat.net/finance/news-1311365

2. 'ประกันชีวิตออมทรัพย์' ต่างจากการออมเงินธรรมดาอย่างไร. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 จาก https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/911514