Date  
5th February 2024

อยากสร้างวินัยทางการเงินด้วยการออมเงิน แต่ครั้นจะฝากเงินในบัญชีดอกเบี้ยก็น้อยจนน่าใจหาย เลยมองหาการออมที่ความเสี่ยงต่ำ อย่างประกันสะสมทรัพย์ และกองทุนรวม แต่ทั้งสองอย่างนี้มีรูปแบบเป็นอย่างไร และแบบไหนที่เหมาะสมกับเรากันแน่

 

ประกันสะสมทรัพย์ เงินฝากคุ้มครองชีวิต

 

ประกันสะสมทรัพย์ คือ การเก็บออมเงินรูปแบบหนึ่งที่ให้ผลตอบแทน และให้ความคุ้มครองชีวิตด้วย มีทั้งแผนประกันระยะสั้นและระยะยาว โดยมากจะจ่ายเบี้ยประกันเป็นรายปี ซึ่งแต่ละแผนจะมีรายละเอียดผลตอบแทนที่แตกต่างกันออกไป อาจจะมีเงินคืนหรือเงินปันผลระหว่างสัญญา หรือรับเป็นเงินก้อนใหญ่เมื่อครบสัญญาก็ได้เช่นเดียวกัน

 

แผนประกันสะสมทรัพย์ มีให้เลือกหลากหลาย ตั้งแต่แผนชำระเบี้ยประกันภัยระยะสั้น 1-5 ปี หรือแผนชำระเบี้ยประกันภัยระยะยาว 6-20 ปี และมีทั้งชำระเบี้ยฯ ครั้งเดียวแล้วจบ กับชำระเบี้ยฯ เป็นรายงวดหรือรายปี เราสามารถเลือกให้ตรงกับความต้องการและวัตถุประสงค์ทางด้านการเงินของเรา

 

ข้อดีของประกันสะสมทรัพย์

 

● สร้างวินัยทางการเงิน การออมเงินอย่างสม่ำเสมอ เป็นหนึ่งในการช่วยให้เราสามารถไปถึงเป้าหมายทางการเงินได้เร็วยิ่งขึ้น เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของผู้ที่ต้องการฝึกวินัยทางการเงิน

 

● คุ้มครองชีวิตตลอดอายุสัญญา จุดเด่นหลักของประกันสะสมทรัพย์ คือ “ความคุ้มครองชีวิต” หากว่าผู้เอาประกันเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวร ทางบริษัทประกันภัยจะจ่ายเงินค่าสินไหมแก่ผู้รับประโยชน์ที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ หรือทายาทตามกฎหมาย เป็นหลักประกันให้แก่คนที่อยู่ข้างหลัง เบี้ยประกันภัยไม่สูญเปล่า เหมาะกับผู้ที่ไม่ต้องการจะจ่ายเบี้ยฯ ทิ้ง

 

● ครบสัญญามีเงินก้อน หากว่าผู้เอาประกันภัยอยู่จนครบกำหนดสัญญา ทางบริษัทประกันภัยจะจ่ายเงินก้อนคืนให้ตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญา สามารถนำไปลงทุนต่อยอด สร้างผลตอบแทนต่อไปได้

 

● มีผลตอบแทนที่แน่นอน ความเสี่ยงต่ำ ไม่ต้องกังวลว่าหุ้นจะติดดอย หรือว่าขาดทุน เพราะการันตีผลตอบแทนที่ได้รับเมื่อครบสัญญา เหมาะกับผู้ที่รับความเสี่ยงได้น้อย หรือต้องการรับผลตอบแทนที่แน่นอน

 

● มีให้เลือกหลากหลายแผน สามารถเลือกได้ตามเป้าหมายทางการเงินและงบประมาณที่เรามีได้เลย

 

● นำไปลดหย่อนภาษีได้ ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี เมื่อรวมกับประกันชีวิตประเภทอื่น ๆ ในกลุ่มเดียวกัน (เงื่อนไขเป็นไปตามที่กรมสรรพากรกำหนด)

 

วิธีเลือกประกันสะสมทรัพย์

 

● เลือกออมสั้นหรือออมยาว หลายคนคิดว่าออมยาว ๆ สัญญา 10-20 ปีจะให้ผลตอบแทนที่มากกว่า ความจริงแล้วไม่เสมอไป เราควรทบทวนเป้าหมายทางการเงินของตนเอง แล้วเลือกระยะเวลาที่เหมาะสมจะดีที่สุด

 

● พิจารณาผลตอบแทนที่เหมาะสมกับความต้องการ ลองพิจารณาว่าเราจ่ายเบี้ยประกันภัยไปเท่าไร และได้รับเงินคืนเท่าไร ผลตอบแทนต่อปีเป็นอย่างไร นอกจากนี้ เราควรจะนำเอาสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีในแต่ละปีมาคำนวณความคุ้มค่าในการเลือกซื้อประกันอีกด้วย

 

● เบี้ยประกันภัย เลือกแผนที่มีเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสม และความสามารถในการชำระเบี้ยประกันภัยว่าสามารถชำระเบี้ยฯ ได้ตามแผนประกันภัยหรือไม่ เพราะหากว่าเราไม่สามารถชำระเบี้ยประกันภัยได้ตามกำหนดระยะเวลา กรมธรรม์อาจสิ้นสุดความคุ้มครอง หรือต้องขอใช้สิทธิเวนคืนกรมธรรม์ ซึ่งเงินเวนคืนที่ได้รับคืนมานั้นอาจจะไม่คุ้มกับเบี้ยประกันภัยที่เราจ่ายไป หากว่าใครไม่แน่ใจเรื่องรายได้ในอนาคต อาจจะเลือกจ่ายเบี้ยประกันภัยแบบชำระครั้งเดียว แต่ในทางตรงกันข้าม หากว่าใครไม่มีเงินก้อน อาจจะเลือกจ่ายเป็นรายปีก็ได้เช่นเดียวกัน

ประกันสะสมทรัพย์ เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เราควรจะซื้อเก็บเอาไว้ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นเสาหลักของครอบครัว อย่างไรก็ตาม ควรพิจารณาเงื่อนไขของสัญญาให้ถี่ถ้วน เพราะมีสภาพคล่องที่ต่ำ ไม่คุ้มค่าหากใช้สิทธิ์เวนคืนกรมธรรม์ก่อนครบกำหนดแนะนำให้ใช้เงินเย็นที่ไม่มีแผนจะใช้ซื้อเบี้ยประกันประเภทนี้จะดีกว่า

 

กองทุนรวม ลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย

 

กองทุนรวม คือ การลงทุนที่ทางบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ระดมทุนจากนักลงทุนรายย่อยไปลงทุนในสินทรัพย์ตามที่ระบุเอาไว้ในหนังสือชี้ชวน ซึ่งมีความเสี่ยงที่แตกต่างกันตามแต่ละสินทรัพย์และนโยบายการลงทุน และจ่ายผลตอบแทนใน 2 รูปแบบ คือ กำไรจากหน่วยลงทุน และเงินปันผล

 

กองทุนรวมมีหลากหลายประเภทให้เลือกลงทุน ซึ่งแต่ละกองทุนมีความเสี่ยงที่แตกต่างกันออกไป ตัวอย่างเช่น กองทุนรวมตลาดเงินในประเทศจะมีระดับความเสี่ยงที่ต่ำที่สุด เนื่องจากลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ระยะสั้น ส่วนกองทุนรวมที่ลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก อย่างการลงทุนในทองคำ น้ำมันดิบ จะมีความเสี่ยงสูงมากกว่า แต่ก็มีโอกาสได้ผลตอบแทนสูงตามไปด้วยเช่นเดียวกัน

 

ข้อดีของกองทุนรวม

 

● เริ่มลงทุนในเม็ดเงินที่น้อย มีทั้งไม่มีขั้นต่ำในการลงทุน เริ่มต้นที่ 500 บาท และ 1,000 บาท ทำให้สามารถเริ่มต้นได้ง่าย ไม่ต้องใช้เงินลงทุนมาก

 

● ไม่จำเป็นต้องลงทุนต่อเนื่อง ช่วยให้การลงทุนมีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น ยกเว้นกองทุนที่กำหนดให้มีการซื้อต่อเนื่อง หรือกำหนดการถือครองอย่าง SFF, RMF

 

● เลือกลงทุนตามความเสี่ยงที่รับได้ หากรับความเสี่ยงได้น้อย สามารถเลือกซื้อกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ และให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างแน่นอนกว่าได้ แต่หากว่าใครรับความเสี่ยงได้ และต้องการได้ผลตอบแทนที่สูงก็สามารถเลือกกองทุนที่มีความเสี่ยงสูงได้เช่นเดียวกัน

 

● มีสภาพคล่องสูง สามารถซื้อขายกองทุนรวมได้ตามต้องการ ยกเว้นกองทุนที่มีสิทธิประโยชน์เรื่องภาษี

 

● มีผู้จัดการกองทุน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนคอยดูแล ไม่ต้องมีความเชี่ยวชาญด้านการเงินและการลงทุนในระดับสูง ก็สามารถลงทุนได้ง่าย

 

วิธีเลือกกองทุนรวม

 

● เลือกตามระดับความเสี่ยงที่รับได้ โดยสามารถทำแบบทดสอบความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เพื่อประเมินว่าเราสามารถรับความเสี่ยงได้มากน้อยเพียงใด

 

● เปรียบเทียบค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียมขาย การรับซื้อคืน การสับเปลี่ยนเข้า-ออก รวมถึงค่าธรรมเนียมการโอน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นค่าใช้จ่ายที่เราจะต้องนำมาคิดคำนวณเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าจริง ๆ

 

● อ่านและศึกษา Fund Fact Sheet เพื่อดูผลงานย้อนหลัง และรายละเอียดอื่น ๆ เกี่ยวกับกองทุน เพื่อที่จะได้คัดเลือกกองทุนที่เหมาะกับการลงทุนของเรา

 

กองทุนรวม เป็นหนึ่งในการลงทุนที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน มีสภาพคล่องสูง และเพิ่มโอกาสการได้รับผลตอบแทน อย่างไรก็ตาม การเลือกกองทุนที่ใช่ ตรงกับความต้องการจะช่วยให้การลงทุนของเรามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

 

เลือกซื้อประกันสะสมทรัพย์ หรือกองทุนรวมดี?

 

คำถามนี้คงเป็นคำถามที่หลาย ๆ คนสงสัย แต่ที่จริงแล้วเราไม่จำเป็นต้องเลือก เพราะเราสามารถเลือกซื้อได้ทั้งสองแบบ ซึ่งการออมเงินทั้งสองแบบมีรูปแบบและวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน แต่หากว่าเราต้องการความคุ้มครองชีวิตและผลตอบแทนที่แน่นอน สม่ำเสมอ แนะนำให้ทำประกันสะสมทรัพย์ ก่อน แล้วค่อยหยอดเงินลงทุนในกองทุนรวม

 

เปรียบเทียบการออมเงินด้วยประกันสะสมทรัพย์ และกองทุนรวม

 

 

เลือกซื้อประกันสะสมทรัพย์ จาก Prudential มีให้เลือกมากมายหลากหลายแผนตามความต้องการ มีทั้งแผนสะสมทรัพย์เพื่อการศึกษา การออม เกษียณอายุ ให้คุณเลือกได้ตามต้องการ สามารถนำเบี้ยประกันภัยไปลดหย่อนภาษีตามกฎหมายได้สูงสุด 100,000 บาทต่อปี เช็กเบี้ยประกันออนไลน์ได้เลย

 

*หมายเหตุ ผู้ซื้อควรทำความเข้าใจรายละเอียดความคุ้มครองและเงื่อนไขก่อนการตัดสินใจทำประกันภัยทุกครั้ง

 

ข้อมูลอ้างอิง

1. ประกันชีวิตสะสมทรัพย์คืออะไร เลือกซื้ออย่างไรให้คุ้มค่าที่สุด. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2567 จาก https://www.prudential.co.th/corp/prudential-th/th/article/what-is-life-insurance-savings/

2. รู้ทันความเสี่ยง และแนวทางกระจายความเสี่ยงจากกองทุนรวม. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2567 จาก https://www.innovestx.co.th/knowledge-hub/detail/wealthmanagement/risk-of-mutual-funds-investment