Date  
10th October 2023

การทำประกัน คือการลดความเสี่ยงทางการเงิน จะได้ลดความกังวลเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน ซึ่งปัจจุบันมีประกันให้เลือกหลากหลายรูปแบบตามความเสี่ยงของแต่ละบุคคล แต่รู้หรือไม่ว่า เบี้ยประกันนอกจากจะใช้ในการลดความเสี่ยงด้านการเงินแล้ว ยังสามารถใช้ในการลดหย่อนภาษีประจำปีได้อีกด้วย

 

ประกันอะไรบ้างที่สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้

 

การทำประกัน เป็นหนึ่งในการลดภาระของทางภาครัฐในการให้สวัสดิการแก่ประชาชน การทำประกันจึงไม่ใช่แค่การทำหลักประกันความเสี่ยงด้านการเงินให้แก่ตนเองและครอบครัวเท่านั้น แต่ยังเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของทางภาครัฐ ด้วยเหตุนี้ รัฐจึงสนับสนุนให้ประชาชนทำประกันภัย โดยให้สิทธิลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ที่ซื้อประกันในช่วงปีภาษีนั้น ๆ

 

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่การทำประกันภัยทุกประเภทจะสามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ จะต้องเป็นประกันภัยที่เข้าเงื่อนไขดังต่อไปนี้

 

ประกันชีวิต

 

สำหรับประเภทของประกันชีวิตที่สามารถใช้ในการลดหย่อนภาษีได้ สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ

 

1. ประกันชีวิตแบบทั่วไป

เป็นประกันที่คุ้มครองชีวิตของผู้เอาประกัน โดยจะจ่ายเงินผลประโยชน์ต่อเมื่อผู้ทำประกันเสียชีวิต หรือทุพพลภาพ โดยมีทั้งประกันชีวิตแบบตลอดชีพ (Whole Life) ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา (Term) ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (Endownment) และประกันชีวิตแบบควบการลงทุน (Unit Linked)

 

สำหรับประกันชีวิตแบบทั่วไปที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ จะต้องมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป โดยจะสามารถลดหย่อนได้สูงสุด 100,000 บาท และหากมีเงินฝากแบบมีประกันชีวิตก็ ต้องนำเบี้ยประกันดังกล่าวมาคิดใน 100,000 บาทนี้ด้วย

 

ในกรณีของประกันชีวิตแบบ Unit Linked เงินส่วนที่นำมาลดหย่อนภาษี จะต้องเป็นส่วนของเบี้ยประกันภัยเท่านั้น แต่จะไม่สามารถนำเงินในส่วนลงทุนไปลดหย่อนภาษีได้

 

นอกจากประกันชีวิตของตนเองแล้ว ยังสามารถนำประกันชีวิตของคู่สมรสที่ไม่มีรายได้มาลดหย่อนได้ตามจริงไม่เกิน 10,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นคู่แต่งงานที่อยู่กินกันมาตั้งแต่ปีภาษีก่อน ไม่นับที่แต่งในปีนี้

 

2. ประกันชีวิตแบบบำนาญ

เป็นประกันชีวิตที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บเงินไว้ใช้ในยามเกษียณ โดยจะให้ความคุ้มครองชีวิต และจ่ายผลประโยชน์เป็นรายงวดเมื่อครบกำหนดสัญญา นั่นก็คือ ในวัยเกษียณนั่นเอง

 

ประกันชีวิตแบบบำนาญที่นำมาลดหย่อนภาษีได้ จะต้องเป็นประกันที่มีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไปเช่นเดียว และต้องจ่ายผลประโยชน์อย่างสม่ำเสมอในช่วงอายุ 55-85 ปี โดยสามารถลดหย่อนได้สูงสุดถึง 15% ของรายได้ในปีนั้น แต่ไม่เกิน 200,000 บาท

 

ในกรณีที่เราไม่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนของประกันชีวิตทั่วไป เราสามารถนำ 100,000 บาทมารวมกับประกันบำนาญ โดยสามารถลดหย่อนได้รวมกันสูงสุด 300,000 บาท และเมื่อรวมกับกองทุนบำนาญอื่น ๆ จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท

 

ประกันสุขภาพ

 

นอกจากประกันชีวิตแล้ว ประกันสุขภาพก็สามารถนำเบี้ยประกันที่จ่ายไปมาลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน ซึ่งจะต้องเป็นประกันสุขภาพที่คุ้มครองค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลที่เกิดจากความเจ็บป่วย ไปจนถึงอาการบาดเจ็บ ทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะ

 

ประกันสุขภาพที่สามารถนำมาลดหย่อนได้ ประกอบไปด้วยประกันสุขภาพทั่วไป ประกันอุบัติเหตุ ประกันโรคร้ายแรง และประกันภัยการดูแลระยะยาว โดยสามารถลดหย่อนได้รวมกันสูงสุด 25,000 บาท และเมื่อรวมกับประกันชีวิตทั่วไปแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท

 

นอกจากประกันชีวิตของตนเองแล้ว เราสามารถนำประกันสุขภาพของพ่อแม่มาลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15,000 บาทต่อปี และหากมีพี่น้องแบ่งจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพของพ่อแม่ จำนวนเงินที่ลดหย่อนก็ต้องหารเฉลี่ยตามจำนวนพี่น้องที่ขอยื่นสิทธิด้วยเช่นเดียวกัน

 

สำหรับคู่สมรสที่ไม่มีรายได้ และพ่อแม่คู่สมรสที่ไม่มีรายได้ ก็สามารถนำเงินประกันสุขภาพไปลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาทเช่นเดียวกัน

 

 

ประกันลดหย่อนภาษีคิดอย่างไร แล้วเราต้องเสียภาษีเท่าไรกันแน่?

 

สำหรับมนุษย์เงินเดือน ในแต่ละเดือนบริษัทจะหักเงินภาษีที่ต้องจ่ายให้รัฐตามเงินได้ โดยคำนวณจากรายได้ที่เราได้รับจากบริษัททั้งปี แต่ไม่ได้คิดค่าลดหย่อนอื่น ๆ เข้าไปด้วย ดังนั้น หากว่าเราได้สิทธิลดหย่อนภาษีมากเท่าไร ก็จะยิ่งทำให้ฐานภาษีของเราลดลง อีกทั้งยังจะทำให้เราเสียภาษีที่น้อยลงด้วย

 

วิธีคำนวณรายได้สุทธิ

 

สำหรับการดูว่าเราต้องจ่ายภาษีในอัตราเท่าไร เราจะต้องนำเงินได้ ค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนมาคำนวณตามสูตรดังนี้

 

เงินได้สุทธิ = เงินได้ทั้งหมด - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน

 

จากนั้นจำนวนที่เราจะต้องเสียภาษีให้เรานำเงินได้สุทธิ x อัตราภาษีที่ต้องจ่าย

 

อัตราภาษีเงินได้แบบขั้นบันได

เงินได้สุทธิ/ปี อัตราภาษี ภาษีสะสมสูงสุดของขั้น

เงินได้สุทธิ/ปี 0-150,000 บาท ไม่ต้องเสียภาษี ได้รับการยกเว้น

เงินได้สุทธิ/ปี 150,001-300,000 บาท อัตราภาษี 5% ภาษีสะสมสูงสุดของขั้น 7,500 บาท

เงินได้สุทธิ/ปี 300,001-500,000 บาท อัตราภาษี 10% ภาษีสะสมสูงสุดของขั้น 27,500 บาท

เงินได้สุทธิ/ปี 500,001-750,000 บาท อัตราภาษี 15% ภาษีสะสมสูงสุดของขั้น 65,000 บาท

เงินได้สุทธิ/ปี 750,000-1,000,000บาท อัตราภาษี 20% ภาษีสะสมสูงสุดของขั้น 115,000 บาท

เงินได้สุทธิ/ปี 1,000,001-2,000,000 บาท อัตราภาษี 25% ภาษีสะสมสูงสุดของขั้น 365,000  บาท

เงินได้สุทธิ/ปี 2,000,001-5,000,000 บาท อัตราภาษี 30% ภาษีสะสมสูงสุดของขั้น 1,265,000บาท

เงินได้สุทธิ/ปี มากกว่า 5,000,000 บาท อัตราภาษี 35% 

 

นั่นหมายความว่า หากว่าเรามีรายได้ทั้งหมด 500,000 บาทต่อปี หักค่าใช้จ่าย 100,000 บาท เราทำประกันชีวิตและประกันสุขภาพ จำนวน 100,000 บาท เท่ากับว่าเรามีเงินได้สุทธิทั้งหมด 300,000 บาท เราจึงต้องจ่ายภาษีที่อัตรา 5% แต่หากว่าทางบริษัทหักไปเกินจำนวน ทางกรมสรรพากรจะต้องจ่ายคืนเงินภาษีที่เก็บเกินไปให้แก่เรานั่นเอง

 

ในอีกกรณีหนึ่ง หากว่าเราไม่ได้ทำประกันเอาไว้ เงินได้สุทธิของเราจะอยู่ที่ 400,000 บาท ทำให้เราต้องจ่ายภาษีที่อัตรา 10%

 

หมายเหตุ ไม่ได้นำสิทธิลดหย่อนในหมวดอื่น ๆ มาคิดคำนวณด้วย

 

ประกันที่ควรทำติดไว้ เพื่อใช้ลดหย่อนภาษี และวางแผนเกษียณ

 

ในการวางแผนทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ ประกันถือว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่ช่วยป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน และยังช่วยลดหย่อนภาษีประจำปีอีกด้วย การทำประกันให้คุ้มค่า จึงควรเลือกประกันที่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีประจำปีได้ โดยแนะนำให้ทำประกันดังต่อไปนี้

 

ประกันสะสมทรัพย์

ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ เป็นลักษณะของการออมเงินในรูปแบบหนึ่ง ที่ช่วยสร้างวินัยทางการเงิน และยังได้รับการคุ้มครองชีวิตตลอดอายุสัญญา

 

ข้อดีของประกันสะสมทรัพย์คือ ได้ออมเงินก้อนไปพร้อมกับการได้รับความคุ้มครองชีวิต ที่สำคัญยังเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า

 

ประกันบำนาญ

 

การมีเงินใช้แบบสบาย ๆ ในช่วงเกษียณเป็นหนึ่งในความปรารถนาของใครหลาย ๆ คน ประกันบำนาญเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะทำให้เราไปถึงจุดมุ่งหมายนั้น โดยทั่วไปจะคล้ายกับการทำประกันสะสมทรัพย์ แต่จะเป็นการออมที่ต่อเนื่องจนถึงอายุเกษียณที่ระบุเอาไว้ในสัญญา จากนั้นก็จะได้รับเงินเป็นงวดตามที่ระบุเอาไว้ในสัญญา

 

ข้อดีของประกันบำนาญคือ เป็นการออมเงินระยะยาว และช่วยการันตีว่าเราจะมีเงินไว้ใช้จ่ายในวัยเกษียณจำนวนหนึ่งอย่างแน่นอน

 

ประกันสุขภาพ

 

ประกันสุขภาพเป็นหนึ่งในประกันที่จะต้องมีติดตัวไว้ เพราะเราไม่รู้หรอกว่า เมื่อไรที่เราจะป่วยหรือต้องใช้เงินกับค่ารักษาพยาบาล ข้อดีของประกันสุขภาพคือ ช่วยให้เราไม่ต้องใช้เงินเก็บมาจ่ายค่ารักษา ที่สำคัญคือ มีตัวเลือกในการรักษาพยาบาลที่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

 

ประกันชีวิตแบบ Unit Linked

 

สำหรับใครที่อยากลงทุน และอยากได้รับความคุ้มครองชีวิตด้วย แนะนำให้ทำประกันชีวิตแบบ Unit Linked ที่แบ่งเบี้ยประกันที่เราจ่ายรายปีไปลงทุนในกองทุนรวม

 

ข้อดีของประกันชีวิตแบบ Unit Linked คือ เพิ่มโอกาสการได้ผลตอบแทนจากการลงทุนมากกว่าประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ และมีความยืดหยุ่นสามารถปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนให้ตรงกับความต้องการได้

 

สำหรับใครที่กำลังมองหาประกันเพื่อใช้ในการลดหย่อนภาษีประจำปี ที่ตอบโจทย์กับความต้องการ สามารถเลือกซื้อประกันจาก Prudential ที่มีแผนประกันให้เลือกทำอย่างครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นประกันบำนาญ ประกันสุขภาพ รวมถึงประกันชีวิตแบบ Unit Linked และประกันสะสมทรัพย์ เพื่อรับสิทธิลดหย่อนภาษีได้ง่าย ๆ ติดต่อตัวแทนได้เลย

 

ข้อมูลอ้างอิง

1. คำนวณภาษี. สืบค้นเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 จาก https://www.itax.in.th/pedia/คำนวณภาษี/

2. การหักค่าใช้จ่าย. สืบค้นเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 จาก https://www.rd.go.th/556.html

3. ประกันชีวิตมีกี่แบบ ?. สืบค้นเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 จาก https://www.moneybuffalo.in.th/insurance/type-of-life-insurance

4. สรุป ซื้อประกันแบบไหน ได้ลดหย่อนภาษี? สิทธิประโยชน์และเงื่อนไขที่ต้องรู้. สืบค้นเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 จาก https://www.finnomena.com/yournicefriend/insurance-tax/

5. อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2560. สืบค้นเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 จาก https://www.rd.go.th/59670.html