Date  
4th December 2023

ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ เป็นหนึ่งในประกันชีวิตที่กำลังได้รับความสนใจ เพราะนอกจากจะได้ออมเงินก้อนแล้ว ยังได้รับผลประโยชน์ในการคุ้มครองชีวิต เรียกได้ว่า หากว่าเรามีชีวิตอยู่ก็สามารถใช้เงินที่เก็บสะสมเอาไว้ได้ แต่หากว่าเกิดเหตุไม่คาดฝัน เราก็มีเงินก้อนเป็นหลักคุ้มกันชีวิตให้กับครอบครัว

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์จะมีความคุ้มครองเรื่องชีวิต แต่ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่ทำประกันชีวิตรูปแบบนี้มักจะมุ่งหวังในเรื่องการเก็บเงินก้อน รวมถึงการได้รับผลตอบแทนที่แน่นอน และอีกหนึ่งประโยชน์คือการเป็นประกันชีวิตที่เน้นการฝึกวินัยทางการเงิน โดยการเก็บออมเงินในระยะยาวเป็นประจำ ซึ่งปัจจุบันมีหลากหลายแผนให้เลือกตามต้องการ

 

ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์คืออะไร?

 

ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์หรือที่ใครหลายคนเรียกสั้น ๆ ว่า ประกันสะสมทรัพย์ คือ การออมเงินในรูปแบบของการประกันชีวิตที่มีผลตอบแทนที่แน่นอน มีความเสี่ยงที่ค่อนข้างต่ำ หมดสัญญารับเงินก้อนใหญ่ อาจจะมีเงินคืนระหว่างสัญญาหรือไม่มีก็ได้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ระบุเอาไว้ในกรมธรรม์ และบางกรมธรรม์นอกจากจะได้เงินคืนแล้ว อาจได้เงินปันผลอีกด้วย

 

ประกันชีวิตสะสมทรัพย์ เป็นหนึ่งในประกันที่เราควรจะซื้อติดเอาไว้ เพราะนอกจากจะเป็นหลักประกันในการคุ้มครองชีวิตแล้ว ยังเป็นหนึ่งในการลงทุนที่สร้างผลตอบแทนที่แน่นอน ที่สำคัญยังใช้ลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย โดยประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์จะมีตัวเลขหน้า/ตัวเลขหลัง ซึ่งตัวเลขแต่ละแบบจะบ่งบอกถึงสิ่งเหล่านี้

 

● ตัวเลขหน้า หมายถึงจำนวนปีที่คุ้มครอง

● ตัวเลขด้านหลัง คือจำนวนปีที่จ่ายเบี้ยประกัน

 

ซึ่งการนำไปลดหย่อนภาษี จะลดหย่อนได้เฉพาะปีที่เราจ่ายเบี้ยประกันเท่านั้น

 

วิธีเลือกประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์

 

ปัจจุบันมีประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์หลากหลายแผนให้เลือกตามเป้าหมายทางการเงินของแต่ละคน ซึ่งหลักการเลือกประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์มีดังต่อไปนี้

 

เลือกแบบออมสั้นหรือออมยาว

 

ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์มีทั้งแบบออมสั้นและแบบออมยาว ออมสั้นจะอยู่ที่ประมาณ 5 ปี ส่วนออมยาว อาจจะยาวเป็น 10-20 ปีแล้วค่อยรับเงินก้อนเลยทีเดียว ดังนั้น เราจึงต้องพิจารณาว่าแบบไหนที่เหมาะกับเราจริง ๆ เพราะหากออมไปแล้ว ระหว่างทางส่งต่อไม่ไหว การเวนคืนประกันนอกจากจะทำให้เราเสียประโยชน์แล้ว ยังอาจจะทำให้เราต้องคืนสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีที่เราได้รับมาแล้วอีกด้วย เรียกว่าเรื่องค่อนข้างยาวและเป็นมหากาพย์ได้เลยทีเดียว

 

ด้วยเหตุนี้ การพิจารณาว่าจะเลือกระยะเวลาในการจ่ายเบี้ยประกันจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

 

ปัจจัยแรกในการพิจารณาคือ อายุ หากว่าอายุยังน้อย เพิ่งเริ่มทำงาน หรือไม่เกิน 35 ปี เราสามารถเลือกออมยาว ๆ แบบ 10-20 ปีได้ แต่หากว่าอายุ 40 ปีขึ้นไปแล้ว แนะนำให้เป็นออมสั้น ๆ 5-10 ปีจะดีกว่า

 

ปัจจัยต่อมาคือ ความสามารถในการจ่ายเบี้ยประกัน โดยให้พิจารณาว่า เราจะสามารถจ่ายเบี้ยประกันในระยะยาวได้หรือไม่ งานที่ทำมีความมั่นคงพอหรือเปล่า จะส่งผลต่อสถานะทางการเงินในอนาคตไหม หรือจะกลายเป็นภาระทางการเงินหรือเปล่า

 

ปัจจัยสุดท้าย คือ แผนการเงินของเรา ต้องการใช้เงินก้อนไปทำอะไรหรือไม่ หากว่าเราวางแผนเอาไว้ว่าอีก 5 ปี เราต้องการเงินก้อนไปลงทุน ก็ให้เราเลือกระยะเวลาตามแผนทางการเงินของเราได้เลย

 

เลือกแบบมีปันผลหรือไม่มีปันผล

 

ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์บางแผนจะมีเงินปันผลให้ หรือที่เรียกว่า Par (Participating Life Insurance) ซึ่งเราต้องเข้าใจก่อนว่า ตัวปันผลนี้ไม่ได้การันตีว่าจะได้ทุกปี รวมถึงไม่การันตีว่าจะได้เท่าไรต่อปี ขึ้นอยู่กับผลประกอบการ ซึ่งเป็นผลประโยชน์เพิ่มเติมให้แก่ผู้เอาประกัน

 

หลายคนอ่านมาถึงตรงนี้อาจจะคิดว่า ถ้าอย่างนั้นก็ควรจะเลือกประกันที่มีปันผลน่าจะดีกว่า เพราะอาจจะได้เงินเพิ่มเติมขึ้นมาบ้าง แนะนำว่าให้ดูรายละเอียดในความคุ้มครองอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย เพราะบางแผนหากว่าเลือกแบบมีปันผล ผลตอบแทนรวมอาจจะน้อยกว่าแบบไม่มีปันผล เราจึงต้องเลือกประกันที่เหมาะสมกับเราที่สุด

 

เลือกแบบมีเงินคืนหรือไม่มีเงินคืน

 

หากว่าใครต้องการรู้ผลตอบแทนที่แน่นอนของประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ให้ดูในเรื่องของเงินคืน ซึ่งบางแผนจะมีให้รับเงินคืนระหว่างทาง แต่บางแผนจะได้รับเงินคืนเป็นก้อนเดียวเมื่อครบสัญญา

 

หลายคนอาจจะคิดว่าการเลือกประกันที่มีเงินคืนระหว่างสัญญาดีกว่า เพราะว่าได้เงินมาใช้ระหว่างทาง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ขึ้นอยู่กับแผนการเงินของเราเป็นหลัก เพราะหากว่าเราไม่มีแผนที่จะใช้เงินระหว่างทาง หรือไม่ได้คิดว่าจะเอาเงินไปลงทุนเพิ่มเติม การเลือกแบบไม่มีเงินคืนระหว่างทาง ผลตอบแทนดังกล่าวก็ไม่ได้หายไปไหน แต่จะถูกนำไปสมทบกับเงินต้น เป็นการช่วยเพิ่มดอกเบี้ยและผลตอบแทนในปลายทางนั่นเอง

 

สรุปก็คือ เลือกแบบมีเงินคืนระหว่างสัญญาก็ได้ไม่ผิด แต่หากว่าอยากเพิ่มผลตอบแทนเป็นเงินก้อนจำนวนมาก การเลือกแบบไม่มีเงินคืนก็ดีเช่นเดียวกัน ขึ้นอยู่กับแผนการเงินของเราเลย

 

เลือกเบี้ยประกันที่เหมาะสม ทั้งจำนวนเงินและระยะเวลาที่จ่ายเบี้ยประกัน

 

สิ่งสำคัญที่สุดของการทำประกันสะสมทรัพย์คือ ความสามารถในการจ่ายเบี้ยประกัน อย่าจ่ายเบี้ยประกันที่แพงเกินตัว และอย่าจ่ายเบี้ยประกันที่ผูกมัดนานเกินไป หากรายได้ของเราไม่ได้มั่นคงมากพอ

 

หากว่าเราไม่แน่ใจว่าเราจะสามารถจ่ายเบี้ยประกันได้เป็นรายงวด ให้เราลองมองแผนที่จ่ายเบี้ยประกันครั้งเดียว แต่คุ้มครองได้นาน แต่หากว่าเราเป็นมนุษย์เงินเดือนหรือข้าราชการที่มีงานค่อนข้างมั่นคง เราอาจจะเลือกจ่ายเบี้ยประกันที่มีระยะเวลายาวนานได้

 

อย่างไรก็ตาม หากว่าเราได้เงินโบนัสทุกปีอยู่แล้ว เราอาจจะเลือกจ่ายเบี้ยฯ เป็นรายปีแทนรายเดือน ซึ่งมีความคุ้มค่าและจ่ายค่าเบี้ยฯ น้อยกว่า แต่หากว่าเราต้องการสร้างวินัยทางการเงินไปด้วยในตัว การจ่ายเป็นรายเดือนก็เป็นทางเลือกที่เหมาะสมเช่นกัน

เลือกผลตอบแทนที่คุ้มค่า

 

การดูความคุ้มค่าและผลตอบแทนของประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ เราจะดูที่จำนวนเปอร์เซ็นต์ที่ทางบริษัทประกันแจ้งมาอย่างเดียวไม่ได้ แต่อาจจะต้องดูที่ค่า IRR (Internal Rate of Return) ร่วมด้วย หากว่าใครอยากรู้ว่าเท่าไร ให้ลองนำเบี้ยประกันที่ต้องจ่ายไปกับผลตอบแทนที่ได้รับไปคำนวณ IRR ดู เพื่อเปรียบเทียบผลตอบแทนที่แท้จริง

 

อย่างไรก็ตาม เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า วัตถุประสงค์ของการทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ไม่ได้มีไว้เพื่อสร้างผลตอบแทนเป็นกอบเป็นกำเหมือนกับหุ้นหรือกองทุน แต่มีไว้เพื่อเป็นหลักประกันสำหรับคนที่อยู่ข้างหลัง หรือบางคนอาจจะเอาไว้เพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม

 

เลือกความคุ้มครองของประกันชีวิต

 

สำหรับผู้ที่เป็นเสาหลักของครอบครัวในการหาเลี้ยง ความคุ้มครองชีวิตในวงเงินสูงก็อาจจะตอบโจทย์ผู้ที่ทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์มากกว่า

 

อย่างไรก็ตาม ประกันชีวิตที่วงเงินคุ้มครองค่อนข้างสูง จะให้ผลตอบแทนที่น้อยกว่าประกันชีวิตที่วงเงินคุ้มครองต่ำ แนะนำให้เลือกตามปัจจัยเสี่ยงและความต้องการของเราจะดีที่สุด

 

  

ทำไมเราจึงควรทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์

 

หลายคนอาจจะคิดว่าการทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ให้ผลตอบแทนที่ต่ำ และมีสภาพคล่องน้อย แต่ที่จริงแล้ว การทำประกันสะสมทรัพย์คือหนึ่งในการวางแผนทางการเงินอย่างหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่แน่นอนและมีความเสี่ยงต่ำ หลายคนที่เลือกซื้อประกันสะสมทรัพย์เอาไว้ เพื่อให้ได้เงินก้อนช่วงที่ใกล้เกษียณ ดังนั้น แนะนำให้แบ่งเงินมาลงทุนในรูปแบบนี้ เพราะจะได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการฝากเงิน และผลตอบแทนไม่ต้องเสียภาษีเงินได้

 

ข้อดีของการทำประกันสะสมทรัพย์

 

● ให้ผลตอบแทนที่แน่นอน ความเสี่ยงต่ำ หากว่าใครกำลังมองหาการลงทุนที่ความเสี่ยงต่ำ แนะนำให้ทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ เพราะแม้ว่าจะไม่สามารถการันตีผลตอบแทนจากเงินปันผลได้ แต่ผลตอบแทนรวม หรือเงินคืนระหว่างสัญญาสามารถการันตีได้แน่นอน

● สร้างวินัยในการออม หากว่าใครต้องการสร้างวินัยทางการออมให้กับตัวเอง การออมเป็นประจำอย่างต่อเนื่องก็ช่วยได้เช่นเดียวกัน

● มีความคุ้มครองชีวิต เหมาะสำหรับคนที่มีห่วง หรือเป็นเสาหลักของครอบครัวในการหารายได้

● ใช้ลดหย่อนภาษีได้ โดยสามารถนำเบี้ยประกันที่จ่ายทั้งหมดไปลดหย่อนภาษีประจำปีได้

 

สร้างความมั่นคงและมั่งคั่ง เป็นหลักประกันให้ตัวเองและครอบครัว เลือกประกันสะสมทรัพย์แบบคุ้มค่า จาก Prudential สามารถเลือกแผนความคุ้มครองได้หลากหลายแผน เบี้ยประกันสามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ ซื้อประกันออนไลน์ได้เลย

 

ข้อมูลอ้างอิง

1. รู้จักประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ช่วยออมทรัพย์ได้จริง!. สืบค้นเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 จาก https://www.krungsri.com/th/krungsri-the-coach/life/family-insurance/savings-life-insurance

2. DCA กับ ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์. สืบค้นเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 จาก https://member.set.or.th/set/education/html.do?name=preretire_isp_preretire-7&innerMenuId=48#:~:text=โดยปกติเอกสารประกอบการ,เงินในประกันชีวิตลดลง