Date  
16th May 2024

ด้วยอุณหภูมิที่ร้อนเกือบตลอดปีของเมืองไทย ยิ่งในช่วงหน้าร้อนที่อุณหภูมิทะยานสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ไม่ได้เพียงแต่ทำให้การใช้ชีวิตลำบากขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยได้ง่าย โดยเฉพาะ "โรคลมแดด" ที่อันตรายเป็นอย่างมาก ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักรู้ เราจะพาไปเข้าใจถึงโรคลมแดดกันให้มากขึ้น ทั้งสาเหตุ อาการ รวมถึงมีวิธีการปฐมพยาบาลหากเกิดอาการมาบอกกัน

 

โรคลมแดดคืออะไร ?

 

“โรคลมแดด” หรือ “ฮีตสโตรก” ( Heatstroke ) คือ ภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นผิดปกติ เกิดจากการอยู่ในสถานที่ที่มีอุณหภูมิร้อนมาก ๆ หรือออกกำลังกายอย่างหนักในที่ที่ไม่มีอากาศถ่ายเท อบอ้าว หรือมีอุณหภูมิสูง จนร่างกายไม่สามารถปรับลดอุณหภูมิภายในให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ จึงส่งผลกระทบต่อระบบประสาท หัวใจ และไต ซึ่งอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

โดยปกติแล้ว ร่างกายของมนุษย์สามารถปรับอุณหภูมิเพื่อรักษาสมดุลเอาไว้ที่ 36 - 37.5 องศาเซลเซียส หากช่วงไหนที่อากาศร้อนมาก ๆ หรือออกกำลังกายหนัก ร่างกายจะขับเหงื่อออกมาเพื่อระบายความร้อน แต่หากว่าอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศร้อนจัด บวกกับใส่เสื้อผ้าหนา หรือร่างกายไม่สามารถปรับตัวได้ทัน ก็อาจจะทำให้เกิดอาการฮีตสโตรกได้เช่นเดียวกัน

 

ใครเป็นกลุ่มเสี่ยงของโรคฮีตสโตรก

 

บุคคลต่าง ๆ เหล่านี้ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่อากาศร้อนจัด แนะนำให้ใส่เสื้อผ้าที่สามารถระบายอากาศได้ดี เพื่อลดภาวะเสี่ยง

 

● ผู้สูงอายุและเด็กเล็ก เป็นกลุ่มเสี่ยงที่เป็นโรคฮีตสโตรกได้ง่ายกว่าวัยอื่น ๆ เนื่องจากร่างกายมีการปรับตัวได้ช้า

● ผู้ที่ออกกำลังกายอย่างหนัก และอยู่ในที่ที่อากาศร้อนจัด ไม่ถ่ายเท

● ผู้ที่อยู่ในภูมิอากาศหนาว แล้วมาท่องเที่ยวในภูมิภาคที่อากาศร้อนจัด

● ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ โรคปอด โรคอ้วน

  

อาการของโรคลมแดดมีอะไรบ้าง ?

  

ในช่วงที่อากาศร้อน แนะนำให้สังเกตอาการคนรอบข้าง เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้เป็นฮีตสโตรก โดยเฉพาะผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง โดยมีอาการที่สังเกตเห็นได้ชัด ดังนี้

 

● อุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป

● ผิวหนังแห้งและร้อน สังเกตบริเวณผิวหนังเริ่มแดงขึ้นเรื่อย ๆ

● ตัวร้อน แต่ไม่มีเหงื่อ เป็นสัญญาณว่าร่างกายไม่สามารถระบายความร้อน หรือรักษาสมดุลได้

● ความดันโลหิตลดลงอย่างรวดเร็ว

● หัวใจเต้นเร็วแรง

● กระหายน้ำอย่างรุนแรง

● มีอาการหายใจหอบ

● วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด และอาจจะมีอาการปวดหัวร่วมด้วย

● รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน

● ชัก เกร็ง และอาจจะหมดสติได้

  

  

วิธีการป้องกันโรคลมแดด

  

ในช่วงที่ประเทศไทยอากาศร้อน แนะนำให้ทุกคนดูแลสุขภาพและร่างกายให้แข็งแรง และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคลมแดดหรือฮีตสโตรก โดยการปฏิบัติดังต่อไปนี้

 

หลีกเลี่ยงการทำงานกลางแจ้ง

 

ในช่วงที่อากาศร้อนจัด แนะนำให้หลีกเลี่ยงการทำงานกลางแจ้ง หรือทำงานในที่อับ ไม่สามารถระบายอากาศได้ดี รวมถึงการอยู่ในรถยนต์หรือยานพาหนะต่าง ๆ แม้ว่าจะเปิดหน้าต่างรถยนต์หรือจอดในร่มก็ตาม

 

สำหรับผู้ที่ทำงานกลางแจ้งให้สังเกตอาการผิดปกติ หากพบว่าเริ่มมีอาการอ่อนเพลียหรือหน้ามืด ให้เข้าไปพักในที่ร่ม ดื่มน้ำ และล้างหน้า เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกาย

  

ดื่มน้ำให้มากขึ้น

 

การดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายเป็นเรื่องสำคัญ แต่หากว่าในช่วงที่อุณหภูมิพุ่งสูงขึ้น แนะนำให้ดื่มน้ำมากกว่าปกติ เพื่อลดอุณหภูมิภายในร่างกายให้ลดลง เป็นการกระตุ้นให้ร่างกายขับเหงื่อออกมาเพื่อรักษาอุณหภูมิให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

 

ใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ระบายอากาศได้ดี

 

พยายามใส่เสื้อผ้าที่โปร่งและสามารถระบายอากาศได้ดี ไม่สวมเสื้อผ้าเนื้อหนา หรือทำให้ร่างกายอับและร้อน โดยแนะนำให้ใส่เสื้อผ้าที่หลวม ใส่สบาย พอดีตัว และไม่รัดแน่นจนเกินไป เพื่อให้ร่างกายสามารถระบายความร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ใช้ครีมกันแดดและสวมหมวกกันแดด

 

เมื่อต้องออกไปกลางแจ้ง ให้ทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 15 ขึ้นไป สวมหมวกกันแดดหรือกางร่ม และสวมแว่นกันแดด นอกจากนี้ แนะนำให้ใส่เสื้อแขนยาว กางเกงหรือกระโปรงยาว ที่สามารถกันแดดและรังสียูวีได้

 

งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงที่อากาศร้อนจัด

  

การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกจากจะทำให้ร่างกายร้อนขึ้น ยังทำให้ปัสสาวะบ่อย จนร่างกายสูญเสียเกลือแร่ และอาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคฮีตสโตรกมากยิ่งขึ้น

  

งดออกกำลังกายกลางแดดในช่วงที่อากาศร้อนจัด

  

โดยเฉพาะการออกกำลังกายหนักและกินเวลานาน แนะนำให้ออกกำลังกายในฟิตเนส หรือเลือกออกกำลังในช่วงเช้าหรือช่วงเย็น ๆ แทนจะดีกว่า

  

วิธีปฐมพยาบาลผู้ป่วยโรคลมแดด

  

ในกรณีที่เจอกับผู้ป่วยโรคลมแดด หรือผู้ที่อุณหภูมิร่างกายเริ่มสูงขึ้น แนะนำให้ปฐมพยาบาลเพื่อบรรเทาอาการ ดังนี้

  

ย้ายผู้ป่วยมาไว้ในที่ร่ม

   

เพื่อป้องกันความร้อนจากแสงแดด และอาจทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นกว่าเดิม หากว่าแถวนั้นมีห้องปรับอากาศ หรือเป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างเย็น ให้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังห้องดังกล่าว เพื่อลดอุณหภูมิให้ต่ำลง

  

จับผู้ป่วยนอนราบ และยกเท้าสูง

   

เพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือด และช่วยให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้เร็วยิ่งขึ้น จากนั้นให้ถอดเสื้อคลุมที่หนาและไม่ระบายอากาศออกจากตัวผู้ป่วย หรือคลายเสื้อผ้าให้หลวมขึ้น เพื่อให้ร่างกายสามารถระบายความร้อนได้ดียิ่งขึ้น

  

ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดไปตามตัว

 

เป็นการลดอุณหภูมิร่างกาย และระบายความร้อน จากนั้นให้ใช้พัดลมเป่าที่ตัวผู้ป่วย เพื่อเร่งให้ร่างกายระบายความร้อนออกมา

 

เทน้ำเย็นราดลงบนตัว

  

เพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ลดต่ำลงโดยเร็วที่สุด หากว่ามีน้ำแข็งให้นำมาประคบบริเวณคอ รักแร้ ขาหนีบ และหลัง เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกาย

  

นำส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด

 

วิธีการที่กล่าวมาเป็นการปฐมพยาบาลเบื้องต้น แต่ไม่ใช่การรักษาอาการฮีตสโตรก โดยเฉพาะหากว่าอวัยวะภายในล้มเหลว แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาอย่างละเอียด ป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับอวัยวะสำคัญของร่างกาย

    

หากประสบกับอาการของโรคลมแดด จำเป็นต้องได้รับการปฐมพยาบาลอย่างถูกวิธี และการรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อความปลอดภัย และหากว่ามีประกันสุขภาพติดไว้ ก็จะช่วยให้เบาใจในเรื่องค่ารักษาพยาบาล ขอแนะนำประกันสุขภาพเหมาจ่าย PRUe-Healthcare Plus เจ็บป่วยเมื่อไร ไม่ต้องใช้เงินเก็บ เคลมได้จริง สูงสุด 50,000 บาท เบี้ยฯ เริ่มต้น 14 บาท/วัน* คุมค่าใช้จ่ายได้ง่าย ปรับแผนได้ตามความเสี่ยง ซื้อวันนี้รับโปรโมชันเพียบ เช็กเบี้ยฯ และสมัครผ่านออนไลน์ได้เลย ไม่ต้องตรวจสุขภาพ

    

*กรณีเพศชาย อายุ 30 ปี แผนความคุ้มครอง 1 เลือก deductible 60,000 บาท

  

ข้อมูลอ้างอิง

1. โรคฮีทสโตรก (โรคลมแดด)

2. โรคลมแดดคืออะไร

3. โรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก (Heat Stroke) โรคใหม่ที่คุณควรรู้ไว้

4. แพทย์เตือนคนทำงานกลางแจ้งเสี่ยง โรคลมแดด อาจถึงตาย แนะวิธีป้องกัน