Date  
15th April 2024

การรักษาที่มีประสิทธิผลจะต้องมาจากการวินิจฉัยที่ถูกต้องและแม่นยำ ซึ่งจำเป็นต้องใช้เครื่องมือทางการแพทย์ในการช่วยตรวจหาความผิดปกติ

 

CT Scan และ MRI คือเครื่องมือทางการแพทย์ในการตรวจรักษาโรคที่ซับซ้อนหรือการตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะภายใน แต่ CT Scan กับ MRI มีความแตกต่างกันอย่างไร และเหมาะแก่การใช้แบบไหน ไปหาคำตอบกันเลย

 

CT Scan คืออะไร ?

 

CT Sacn หรือ Computerized Tomography Scan คือ การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ที่จะฉายรังสีในบริเวณที่ร่างกายต้องการตรวจ แล้วสร้างเป็นภาพ เพื่อตรวจหาความผิดปกติในร่างกาย การตรวจ CT Scan จะได้ภาพที่มีความละเอียดสูงมากกว่าการเอกซเรย์ทั่ว ๆ ไป ทำให้เห็นรอยโรคได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น สามารถกำหนดแนวทางการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ประเภทของ CT Scan

  

ปัจจุบันเครื่อง CT Scan มี 2 ประเภทหลัก ๆ คือ

 

1. แบบภาพตัดขวางพื้นฐาน (Conventional CT Scan) เครื่องจะหมุนรอบผู้ป่วย 1 รอบ ในแต่ละตำแหน่ง จากนั้นนำมาสร้างเป็นภาพตัดขวาง

2. ภาพแบบเกลียว (Spiral CT Scan) เครื่องจะหมุนเป็นวงกลมอย่างต่อเนื่อง ทำให้ได้หลายภาพในคราวเดียวกัน ทำให้ได้ภาพที่ละเอียดและแม่นยำยิ่งขึ้น

 

เหมาะกับการวินิจฉัยโรคแบบใด ?

 

● อาการบาดเจ็บของอวัยวะภายใน

● การเกิดลิ่มเลือด

● รอยร้าวของกระดูก

● การตรวจช่องท้อง ปอด และอวัยวะภายในอื่น ๆ

● เนื้องอก มะเร็ง

 

การเตรียมตัวก่อนทำ CT Scan

  

● แจ้งข้อจำกัดด้านสุขภาพ เช่น โรคประจำตัว อย่างเบาหวาน หัวใจ หอบหืด, การตั้งครรภ์, การมีประวัติการแพ้สารทึบรังสีที่ใช้ทำ CT Scan, การเคยสวนแป้ง Barium เพื่อประเมินความเหมาะสมในการตรวจวินิจฉัย

● สวมใส่เสื้อผ้าหลวม ๆ ที่ไม่มีส่วนประกอบของโลหะ ไม่ว่าจะเป็นซิป กระดุม เข็มขัด หรือเครื่องประดับต่าง ๆ

● งดน้ำและอาหารก่อนการตรวจ 6 ชั่วโมง

● ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวอาจจะต้องตรวจการทำงานของไตก่อน

 

ขั้นตอนการทำ CT Scan

 

● แพทย์จะให้ผู้ป่วยดื่มสารทึบรังสี เพื่อให้เห็นภาพในบริเวณต่าง ๆ ในร่างกายชัดเจนยิ่งขึ้น และในกรณีที่ผู้ป่วยมีความวิตกกังวล แพทย์อาจจะให้ยาระงับประสาท

● เมื่อเริ่มทำ CT Scan แพทย์จะให้ผู้ป่วยนอนราบบนเตียง จากนั้นเตียงจะเคลื่อนเข้าไปด้านใน

● ระหว่างการฉายภาพ แพทย์อาจจะบอกให้เราหายใจเข้า-ออก หรือกลั้นหายใจ โดยกระบวนการทั้งหมด ใช้เวลาประมาณ 10-20 นาที

 

ข้อควรระวังในการทำ CT Scan

 

ในการทำ CT Scan อาจมีผลข้างเคียงอย่างอาการหน้าบวม ปากบวม วิงเวียนศีรษะ หายใจลำบาก หรือมีผดผื่นได้ หรือบางรายอาจแพ้สารทึบรังสี ผู้ป่วยจึงต้องสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากพบอาการผิดปกติ ให้รีบไปพบแพทย์โดยทันที

 

นอกจากนี้ ในกรณีที่กินยาระงับประสาท ควรจะมีญาติมาคอยดูแล เพราะอาจจะทำให้ง่วงซึม หรือมึนงง ไม่สามารถขับรถได้

 

 

MRI คืออะไร ?

 

MRI หรือ Magnetic Resonance Imaging คือ การตรวจความผิดปกติโดยการใช้สนามแม่เหล็กที่มีความเข้มข้นสูง และคลื่นวิทยุความถี่จำเพาะ ในการสร้างภาพที่มีความละเอียดสูงด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ช่วยให้สามารถเห็นความผิดปกติของอวัยวะภายในได้อย่างละเอียด สามารถนำไปวินิจฉัยเพื่อหาแนวทางการรักษาที่มีประสิทธิภาพได้

 

เหมาะกับการวินิจฉัยโรคแบบใด ?

 

● ความผิดปกติภายในกะโหลกศีรษะ กระดูกสันหลัง ไขสันหลัง เนื้อเยื่อกล้ามเนื้อ อวัยวะในอุ้งเชิงกราน ทรวงอก ช่องท้อง เต้านม และส่วนอื่น ๆ

 

การเตรียมตัวก่อนทำ MRI

 

● แจ้งแพทย์เกี่ยวกับโรคประจำตัว ข้อจำกัดด้านสุขภาพ โดยเฉพาะผู้ที่ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ ผู้ป่วยที่ผ่าตัดใส่คลิป หรือโลหะต่าง ๆ รวมถึงมีสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย อย่างฟันปลอม เหล็กดัดฟัน

● ใส่เสื้อผ้าที่ปราศจากโลหะต่าง ๆ ไม่สวมใส่เครื่องประดับโลหะ ฝากบัตรเครดิต บัตรเอทีเอ็ม โทรศัพท์มือถือ วิทยุติดตามตัวต่าง ๆ ไว้กับเจ้าหน้าที่หรือญาติ

● งดน้ำและอาหาร

    ○ อย่างน้อย 2 ชั่วโมง สำหรับผู้ป่วยทั่วไป

    ○ อย่างน้อย 6 ชั่วโมง สำหรับผู้ที่ตรวจช่องท้อง

    ○ อย่างน้อย 8 ชั่วโมง สำหรับผู้ป่วยที่ต้องให้ยานอนหลับ

● ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวอาจจะต้องตรวจการทำงานของไตก่อน

● ในบางกรณีอาจมีการฉีดสารเพิ่มความต่าง เพื่อให้ได้ภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

● งดแต่งหน้าด้วยมาสคาราและอายแชโดว์ รวมถึงเครื่องสำอางอื่น ๆ ที่มีส่วนประกอบของโลหะ

 

ขั้นตอนการทำ MRI

 

● ผู้ป่วยนอนราบบนเตียง จากนั้นเจ้าหน้าที่จะติดเครื่องจับสัญญาณแม่เหล็กตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

● เตียงจะค่อย ๆ เลื่อนไปที่จุดตรวจ โดยจะมีเสียงดังเป็นระยะ

● ใช้เวลาประมาณ 1-3 ชั่วโมง

 

ข้อควรระวัง

 

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีการฝังโลหะในร่างกาย เช่น ข้อเทียม ฟันปลอม เครื่องสำอางที่มีส่วนประกอบของโลหะ เหล็กดัดฟัน ควรแจ้งให้แพทย์รับทราบ เนื่องจากการตรวจ MRI จะอยู่ในห้องที่มีสนามแม่เหล็กเข้มข้นสูง จึงอาจจะมีผลกระทบต่อร่างกายและผลการตรวจได้ สำหรับผู้ป่วยที่กลัวที่แคบ ควรแจ้งแพทย์หรือพยาบาล เนื่องจากจะต้องอยู่ในโพรงแคบ ๆ เป็นเวลานาน

 

CT Scan และ MRI เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำ สำหรับใครที่ต้องการความอุ่นใจในการรักษา ไม่ต้องการนำเงินเก็บมาจ่าย แนะนำให้ทำประกันสุขภาพเหมาจ่ายกับพรูเด็นเชียลประกันชีวิต เบี้ยประกันเบา ๆ แต่สามารถเลือกความคุ้มครองครอบคลุมครบทั้ง IPD, OPD, โรคร้ายแรง, โรคมะเร็งแบบเจอจ่ายจบ และมีเงินชดเชยให้ในวันที่นอนโรงพยาบาล เช็กเบี้ยประกันออนไลน์ได้เลย

  

ข้อมูลอ้างอิง

1. CT Scan ขั้นตอนและสิ่งที่ควรรู้ก่อนรับการตรวจ

2. มารู้จักกับ เทคโนโลยี… เอ็มอาร์ไอ (MRI)

3. รู้ก่อนตรวจ ความแตกต่างสำคัญระหว่าง MRI กับ CT Scan