Date  
20th November 2023

เมื่อพูดถึง 'โรคร้ายแรง' หลายคนอาจไม่ได้ให้ความสนใจมากนักเพราะมองว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัวเกินไป แต่แท้จริงแล้วไม่ว่าจะเป็นวัยไหนก็มีโอกาสเป็นโรคร้ายแรงได้ทั้งสิ้น โดยเฉพาะในยุคสมัยที่มีปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดโรคมากมาย ซึ่งหลายคนอาจเริ่มให้ความสนใจและระวังตัวกันมากขึ้น แต่จะมีโรคไหนบ้างที่ควรวางแผนรับมือในอนาคต วันนี้เราจะพาไปหาคำตอบพร้อมกัน

 

ทำความรู้จัก โรคร้ายแรงคืออะไร?

 

โรคร้ายแรง คือโรคที่รักษาให้หายได้ยากกว่าโรคทั่วไป ต้องใช้เทคโนโลยีหรือเทคนิคทางการแพทย์แบบเฉพาะทางในการรักษา ส่งผลให้ต้องรักษาต่อเนื่องเป็นเวลานาน จึงอาจทำให้ผู้ป่วยต้องสูญเสียความสามารถในการทำงาน ซึ่งนอกจากความเจ็บปวดทางร่างกายและจิตใจแล้ว โรคร้ายแรงยังอาจส่งผลกระทบต่อการเงินของผู้ป่วยได้อีกด้วย โดยสาเหตุของโรคร้ายแรงอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น พันธุกรรม สิ่งแวดล้อม พฤติกรรมการใช้ชีวิต หรือแม้แต่การติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัว

 

โรคร้ายแรง มีอะไรบ้าง?

 

โรคมะเร็ง

 

เมื่อพูดถึงโรคร้ายแรง เชื่อว่าหลายคนต้องนึกถึงโรคมะเร็งก่อนเป็นลำดับแรก โดยมะเร็งเป็นกลุ่มของโรคที่เกิดจากเซลล์ในร่างกายเกิดการกลายพันธุ์และเจริญเติบโตอย่างผิดปกติ ซึ่งเซลล์มะเร็งจะแบ่งตัวและลุกลามไปยังอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้เกิดอาการที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งและระยะของโรค โดยจะมีอาการทั่วไป เช่น

 

● อ่อนเพลีย

● น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ

● มีไข้

● เบื่ออาหาร

● ปวดตามร่างกาย

● ท้องผูก หรือท้องเสีย

● ปัสสาวะบ่อยหรือปัสสาวะลำบาก

● เลือดออกผิดปกติ

● เกิดก้อนเนื้อ

 

มะเร็งเป็นโรคร้ายแรงที่อาจทำให้เสียชีวิตได้ การป้องกันสามารถทำได้โดยหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคมะเร็ง เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา ขาดการออกกำลังกาย และการทานอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง รวมถึงการทานอาหารแปรรูป

 

โรคหัวใจล้มเหลว

 

โรคหัวใจล้มเหลว เป็นภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้อย่างปกติ ส่งผลให้อวัยวะในร่างกายได้รับเลือดไปหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอต่อความต้องการ รวมทั้งไม่สามารถรับเลือดกลับเข้าสู่หัวใจได้ตามปกติ จนทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น

 

● เหนื่อยง่าย

● อ่อนเพลีย

● หายใจลำบาก

● บวมตามแขนขา

● แน่นหน้าอก

● น้ำหนักขึ้น

● ปัสสาวะบ่อยหรือปัสสาวะลำบาก

 

โดยโรคหัวใจล้มเหลวอาจเกิดจากความผิดปกติของเยื่อหุ้มหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจ ลิ้นหัวใจ หรือโรคของหลอดเลือด รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การบริโภคแอลกอฮอล์เป็นเวลานาน การใช้สารเสพติด หรือการได้รับสารเคมีและเชื้อโรคบางชนิด อีกทั้งโรคหัวใจล้มเหลวยังนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ที่อาจส่งผลต่อชีวิตได้

 

โรคหลอดเลือดสมอง

 

  

โรคหลอดเลือดสมอง เป็นโรคที่เกิดจากหลอดเลือดในสมองเกิดการอุดตันหรือแตก จนส่งผลให้สมองขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง ทำให้เกิดอาการทางระบบประสาท เช่น

 

● ชาครึ่งซีก

● อ่อนแรงครึ่งซีก

● พูดไม่ชัด

● เดินเซ

● เวียนศีรษะ

● มองเห็นภาพซ้อน

● สูญเสียการทรงตัว

● หมดสติ

 

โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคร้ายแรงที่ส่งผลต่อร่างกาย ทำให้พิการ หรือเสียชีวิตได้ การป้องกันโรคหลอดเลือดสมองสามารถทำได้โดยการควบคุมความดันโลหิตและน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ส่งผลร้ายต่อร่างกาย เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์

 

โรคไตวายเรื้อรัง

 

โรคไตวายเรื้อรัง เป็นภาวะที่ไตสูญเสียการทำงานลงอย่างช้า ๆ จนไม่สามารถทำงานได้และเมื่อไตสูญเสียการทำงานอย่างถาวร จะส่งผลให้ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการรักษาสมดุลของเหลวในร่างกาย การกรองของเสียและสารพิษออกจากเลือด ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น

 

● บวมตามร่างกาย

● ปัสสาวะบ่อยหรือปัสสาวะลำบาก

● อ่อนเพลีย

● หายใจลำบาก

● เบื่ออาหาร

● คลื่นไส้อาเจียน

● กล้ามเนื้ออ่อนแรง

● ปวดศีรษะ

● ปวดหลัง

● นอนไม่หลับ

 

ซึ่งโรคไตวายเรื้อรังเป็นอีกหนึ่งภัยเงียบที่หลายคนอาจไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก แต่นับว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ แต่ก็สามารถป้องกันได้ด้วยการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี หมั่นควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

 

โรคเบาหวาน

 

โรคเบาหวาน เป็นกลุ่มของโรคที่เกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง และทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น

 

● ปัสสาวะบ่อย

● กระหายน้ำบ่อย

● อ่อนเพลีย

● น้ำหนักลด

● มองภาพซ้อน

● ชาตามมือและเท้า

● มีแผลหายช้า

 

ซึ่งการเกิดโรคเบาหวาน อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคไตวาย โดยสามารถป้องกันโรคเบื้องต้นได้ด้วยการควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

 

โรคความดันโลหิตสูง

 

โรคความดันโลหิตสูง เป็นภาวะที่ความดันโลหิตอยู่ในระดับสูงผิดปกติ คือมากกว่า หรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท ความดันโลหิตเป็นแรงที่เลือดกระทำต่อผนังหลอดเลือด โดยผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ แต่บางรายอาจมีอาการ เช่น

 

● ปวดศีรษะ

● เวียนศีรษะ

● เหนื่อยง่าย

● คลื่นไส้อาเจียน

● หายใจลำบาก

● มองเห็นภาพซ้อน

 

การเกิดโรคความดันโลหิตสูงอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ได้อีกหลายโรค และหากปล่อยไว้โดยไม่รักษา อาจส่งผลให้อวัยวะสำคัญในร่างกายถูกทำลาย เนื่องจากภาวะความดันโลหิตสูงจะทำให้ผนังหลอดเลือดแดงหนาตัวขึ้นและมีรูที่เล็กลง จนเลือดไปหล่อเลี้ยงอวัยวะอื่น ๆ ได้น้อยลง แต่ก็สามารถป้องกันโรคในเบื้องต้นได้ ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ จำกัดโซเดียม และควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่ก็ไม่ควรออกกำลังกายหนักจนเกินไปด้วย

 

เมื่ออ่านจนถึงตรงนี้ หลายคนคงได้ทราบแล้วว่าโรคร้ายแรงเป็นโรคอันตรายที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วอาจส่งผลต่อร่างกายของเราได้อย่างฉับพลัน แต่เราก็สามารถเริ่มต้นดูแลตนเองได้ตั้งแต่ตอนนี้ ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ แต่ถ้าใครอยากเพิ่มความอุ่นใจให้มากขึ้น ประกันชีวิตจาก Prudential ก็มีแผนสำหรับโรคมะเร็งและโรคร้ายแรงอื่น ๆ ได้ ที่ให้ความคุ้มครองครอบคลุม พร้อมค่าชดเชยรายได้กรณีเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยสามารถเปรียบเทียบความคุ้มครอง ค่าเบี้ยประกัน และซื้อประกันออนไลน์ได้เลย

 

ข้อมูลอ้างอิง

 

1. ความรู้โรคมะเร็ง. สืบค้นเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2566 จาก https://www.wattanosothcancerhospital.com/all-about-cancer/general-information-about-cancer

2. ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure) ช้าเพียงเสี้ยววินาทีก็เสี่ยงเสียชีวิตได้. สืบค้นเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2566 จาก https://thainakarin.co.th/heart-failure-tnh/

3. โรคหลอดเลือดสมอง. สืบค้นเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2566 จาก https://www.bumrungrad.com/th/conditions/stroke

4. โรคไตเรื้อรัง ไม่ยากเกินเข้า. สืบค้นเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2566 จาก https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/461

5. โรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus) สาเหตุ อาการ วิธีรักษา รู้ทันกันได้. สืบค้นเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2566 จาก https://www.vibhavadi.com/Health-expert/detail/410

6. คุณเป็นความดันโลหิตสูงรึเปล่า?. สืบค้นเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2566 จาก https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/hypertension