Date  
1st April 2024

เชื่อว่าทุกคนคงรู้ถึงประโยชน์ของประกันมาบ้างไม่มากก็น้อย ทั้งในแง่ของการให้ความคุ้มครองต่อความเสี่ยงในกรณีเจ็บป่วยหรือหากเสียชีวิตลง แต่อีกหนึ่งข้อดีของการซื้อประกันที่ไม่ควรมองข้าม คือการนำไปใช้ลดหย่อนภาษีในแต่ละปี แล้วประกันชีวิต ประกันสุขภาพ หรือประกันสะสมทรัพย์ จะสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่ และแบบไหนจะใช้ลดหย่อนภาษีได้บ้าง เราจะมาไขคำตอบ พร้อมบอกเทคนิคการเลือกซื้อประกันเพื่อนำไปลดหย่อนภาษีมาแนะนำกัน

 

เข้าใจเกี่ยวกับค่าลดหย่อนภาษี

 

ค่าลดหย่อนภาษี คือ สิทธิประโยชน์อย่างหนึ่งตามกฎหมายประมวลรัษฎากรที่ช่วยทำให้เสียภาษีน้อยลง โดยประกันชีวิตและประกันสุขภาพ เป็นหนึ่งรายการที่กำหนดไว้ให้สามารถนำมาใช้ในการลดหย่อนภาษีได้ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้เห็นความสำคัญของการซื้อประกันกันมากขึ้น ทั้งยังช่วยเสริมสร้างความมั่นคงในชีวิต และลดภาระของภาครัฐในการดูแลด้านสาธารณสุขให้แก่ประชาชนอีกด้วย

 

ประเภทของประกันลดหย่อนภาษี และอัตราลดหย่อนสูงสุดต่อปี

 

หากถามว่าการซื้อประกันสุขภาพ ประกันชีวิต รวมถึงประกันสะสมทรัพย์มีข้อดียังไง และจะสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่ ควรมาทำความเข้าใจถึงลักษณะของประกันในแต่ละประเภทกันก่อน เพื่อให้รู้ถึงความคุ้มครอง และแบบไหนเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของเรา

ประกันชีวิต

 

ปัจจุบันประกันชีวิตที่บริษัทประกันนิยมออกผลิตภัณฑ์มาให้ได้เลือกทำนั้น จะแบ่งออกเป็น 5 ประเภท คือ

 

● ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ (Whole Life)

สัญญาประกันชีวิตที่เน้นการคุ้มครองชีวิตในระยะยาว โดยผู้รับประกันภัยจะจ่ายเงินเอาประกันภัยให้แก่ผู้รับประโยชน์ ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต หรือจ่ายคืนแก่ผู้เอาประกันภัยในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยมีชีวิตอยู่จนถึงอายุที่กำหนดในกรมธรรม์ประกันชีวิต การประกันแบบตลอดชีพนี้ เน้นความคุ้มครองมากกว่าการออมทรัพย์ จึงทำให้อัตราเบี้ยประกันภัยไม่สูงมากนัก อีกทั้งผู้เอาประกันภัยยังต้องจ่ายค่าเบี้ยฯ เพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น

 

● ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา (Term Insurance)

สัญญาประกันชีวิตที่เน้นความคุ้มครองชีวิตเพียงช่วงระยะเวลา ไม่มีการออมทรัพย์ อัตราเบี้ยประกันภัยจึงถูกกว่าการประกันชีวิตแบบอื่น ๆ โดยจะจ่ายเงินชดเชยในกรณีที่ผู้เอาประกันเสียชีวิตเท่านั้น แต่ถ้าหากครบกำหนดสัญญาแล้วผู้เอาประกันยังมีชีวิตอยู่ ก็จะไม่มีเงินคืนให้ คล้าย ๆ กับเป็นการทำประกันวินาศภัย เหมาะสำหรับบุคคลที่มีรายได้ไม่สูงมาก และต้องการความคุ้มครองสูงในระยะเวลาสั้น ๆ หรือคุ้มครองหนี้สินจากการเช่าซื้อ

 

● ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (Endowment Insurance)

สัญญาประกันชีวิตที่มาในรูปแบบการส่งเสริมวินัยในการออม โดยผู้รับประกันภัยจะจ่ายเงินเอาประกันภัยคืนให้แก่ผู้เอาประกันภัย เมื่อผู้เอาประกันภัยมีชีวิตอยู่จนครบกำหนดสัญญา หรือจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้รับประโยชน์ เมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตก่อนวันครบกำหนดสัญญา แต่มีหลายคนสงสัยว่า หากทำประกันสะสมทรัพย์ประเภทนี้จะได้เงินคืนจริงไหม ต้องบอกว่าถ้าส่งเบี้ยประกันภัยครบตามกำหนดระยะเวลาของสัญญา ผู้เอาประกันก็จะได้รับเงินคืนอย่างแน่นอน แต่หากสูญเสียชีวิตก่อนครบกำหนด ยังจะได้รับเงินชดเชยอีกด้วย

 

● ประกันชีวิตควบการลงทุน (Unit Linked Life Insurance)

กรมธรรม์ประกันชีวิต ที่บริษัทประกันชีวิตขายควบกับกองทุนรวม ซึ่งผู้ซื้อจะได้รับทั้งความคุ้มครองและผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันชีวิต และมีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนรวม โดยค่าเบี้ยประกันภัยที่ผู้เอาประกันภัยชำระนั้น บริษัทฯ จะนำแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นค่าเบี้ยประกันภัยสำหรับการให้ความคุ้มครอง และอีกส่วนจะนำไปใช้ในการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมตามคำสั่งของผู้เอาประกันภัย

โดยประกันชีวิตทั้ง 4 ประเภทนี้ สามารถลดหย่อนภาษีสูงสุดได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี

 

● ประกันชีวิตแบบบำนาญ (Annuity Insurance)

สัญญาประกันชีวิตอีกรูปแบบหนึ่งที่สามารถช่วยสร้างรากฐานความมั่นคงทางการเงินได้ โดยผู้เอาประกันจะได้รับความคุ้มครองในกรณีที่เสียชีวิต และเมื่อส่งเบี้ยประกันภัยครบตามระยะเวลาที่กำหนด ผู้รับประกันภัยจะจ่ายเงินเป็นงวด งวดละเท่า ๆ กันให้แก่ผู้เอาประกันภัยทุกเดือน หรือทุกปี จนกว่าผู้เอาประกันภัยจะเสียชีวิต หรือครบตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ เช่น ครบอายุ 85 ปี หรือ 90 ปี เป็นต้น โดยจะเริ่มจ่ายตามกำหนดในกรมธรรม์ประกันชีวต เช่น ครบอายุ 55 ปี หรือ 60 ปี โดยค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท

 

 

ประกันสุขภาพ

 

ในส่วนของประกันสุขภาพ จะแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ

 

● ประกันสุขภาพ

ประกันที่ให้ความคุ้มครองเป็นค่าชดเชยในส่วนของค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นค่าแพทย์ ค่าห้องพัก หรือบริการทางการแพทย์ต่าง ๆ โดยแบ่งออกได้เป็นประกันสุขภาพและประกันโรคร้ายแรง ซึ่งหากทำประกันสุขภาพให้กับตนเอง เบี้ยประกันสุขภาพ สามารถนำมาใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท ต่อปี และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตสามารถลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท

นอกจากนี้ หากทำให้กับพ่อแม่ จะสามารถนำค่าเบี้ยฯ ไปใช้ลดหย่อนภาษีได้เท่าที่จ่ายจริง และสูงสุดปีละไม่เกินคนละ 15,000 บาท

 

● ประกันภัยอุบัติเหตุ

ประกันที่ให้ความคุ้มครองในส่วนของค่ารักษาพยาบาล ค่าบริการทางการแพทย์ เนื่องจากการเจ็บป่วยจากอุบัติเหตุ สามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 25,000 บาทต่อปี และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตสามารถลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท

 

วิธีการเลือกซื้อประกันสุขภาพ ประกันชีวิต ประกันสะสมทรัพย์ เพื่อการลดหย่อนภาษี

 

1. คำนวณภาษีที่ต้องจ่าย

ก่อนการตัดสินใจเลือกซื้อประกันลดหย่อนภาษี ต้องรู้ก่อนว่าตนเองจะเสียภาษีอยู่ที่เท่าไรในแต่ละปี โดยต้องทำรายการเงินได้ตลอดทั้งปี โดยดูจากเงินเดือนซึ่งเป็นรายได้จากงานประจำ รวมถึงรายได้อื่น ๆ ที่ได้จากการว่าจ้างทำงาน หรือขายของ เพื่อให้เห็นรายได้ทั้งหมดของตนเอง

 

2. เช็กรายการลดหย่อนภาษี

หลังจากรู้รายได้ทั้งหมดแล้ว จากนั้นมาเช็กว่า ตนเองมีค่าลดหย่อนในส่วนใดบ้าง แล้วจึงนำไปคำนวณรายได้สุทธิออกมา และเมื่อรู้รายได้สุทธิของเราแล้ว ให้เช็กกับฐานภาษีว่าต้องจ่ายอยู่ที่กี่เปอร์เซ็นต์ของรายได้สุทธิ

 

3. ซื้อประกันที่ตอบโจทย์

จากนั้นจึงนำยอดที่ต้องเสียภาษีไปใช้ในการวางแผนเพื่อซื้อประกัน โดยนอกจากดูค่าเบี้ยประกันภัยที่จะนำมาใช้ในการลดหย่อนภาษีแล้ว ยังควรเลือกที่ตอบโจทย์กับรูปแบบการใช้ชีวิตและเป้าหมายทางการเงินในระยะยาวของตนเองด้วย

ทั้งหมดนี้ คงทำให้เห็นกันแล้วว่าการทำประกันสุขภาพ หรือประกันสะสมทรัพย์ลดหย่อนภาษีดียังไง และสำหรับผู้ที่ต้องการวางแผนซื้อประกันเพื่อลดหย่อนภาษี มาเลือกซื้อประกันกับพรูเด็นเชียลทางออนไลน์ได้เลย หรือโทรสอบถามได้ที่ 1621

 

ข้อมูลอ้างอิง

1. ร้อยเรื่องลดหย่อน ปีภาษี 2560 https://www.rd.go.th/60058.html