Date  
15th January 2025

มนุษย์เงินเดือนหลายคนคงเคยเผชิญกับสถานการณ์ที่ต้องเปลี่ยนงานในช่วงกลางปี รวมถึงคนที่เพิ่งเริ่มทำงานได้ไม่นาน แล้วเกิดความสงสัยว่าต้องยื่นภาษีอย่างไร ? หรือต้องคำนวณภาษีแบบไหน ? ไปจนถึงเกิดข้อสงสัยที่ว่า "เราจำเป็นต้องยื่นภาษีหรือไม่ ?" มาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับการยื่นภาษีสำหรับผู้ที่ทำงานไม่เต็มปีและผู้ที่เปลี่ยนงานระหว่างปี พร้อมอธิบายเทคนิคการวางแผนภาษีเพื่อให้คุณได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดในการยื่นภาษีครั้งต่อไป

  

1. ทำงานไม่ถึงปีต้องยื่นภาษีไหม ? : หลักเกณฑ์การยื่นภาษีพื้นฐาน

 

สำหรับคำถามที่ว่า หากทำงานไม่เต็มปีจำเป็นต้องยื่นภาษีไหม คำตอบของคำถามนี้จะขึ้นอยู่กับว่าคุณมีเงินได้พึงประเมินรวมทั้งปีเท่าไร เพราะถึงแม้ว่าคุณจะทำงานไม่เต็มปีแต่มีรายได้ถึงเกณฑ์ ก็ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ด้วยเช่นกัน

 

โดยกรมสรรพากรได้กำหนดเกณฑ์เงินได้พึงประเมินขั้นต่ำที่ผู้มีเงินได้ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี ไว้ดังนี้

 

1. คนโสดหรือไม่มีคู่สมรสที่มีเงินได้พึงประเมิน

● เงินเดือนเพียงอย่างเดียว เกิน 120,000 บาทต่อปี

● เงินได้ประเภทอื่น เกิน 60,000 ต่อปี

 

2. บุคคลที่มีคู่สมรสที่มีเงินได้พึงประเมิน

● เงินเดือนเพียงอย่างเดียว เกิน 220,000 บาทต่อปี

● เงินได้ประเภทอื่น เกิน 120,000 ต่อปี

 

โดยผู้ที่มีรายได้เกินจากที่กำหนด จำเป็นต้องยื่นภาษีทุกคน ไม่ว่าจะทำงานครบปีหรือไม่

 

2. การแยกประเภทรายได้และการคำนวณภาษี

 

การแยกประเภทรายได้

 

ประเภทของเงินได้พึงประเมินที่สำคัญสำหรับคนทำงานคือ

 

● เงินได้ประเภทที่ 1 ซึ่งรวมถึง เงินเดือน ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา โบนัส และค่าคอมมิชชัน ซึ่ง เงินได้ประเภทนี้ สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

● เงินได้ประเภทที่ 2 เช่น ค่าตำแหน่ง เบี้ยประชุมกรรมการ รวมถึงผลประโยชน์เพิ่มเติมอื่น ๆ หักค่าใช้จ่ายได้ 50 % ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท เช่นกัน

 

ในกรณีที่มีเงินได้ทั้ง 2 ประเภท ให้นำมาคิดรวมกัน โดยสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ไม่เกิน 100,000 บาท

 

นอกจากนี้ ยังมีเงินได้ประเภทอื่น ๆ อีก เช่น

● เงินได้ประเภทที่ 3 ได้แก่ ค่ากู๊ดวิลล์(ค่าความนิยม) ค่าลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น เงินปี หรือเงินได้ที่มีลักษณะเป็นเงินรายปีอันได้มาจากพินัยกรรม นิติกรรมอย่างอื่น หรือคำพิพากษาของศาล

● เงินได้ประเภทที่ 4 ได้แก่ ดอกเบี้ย เงินปันผล เงินส่วนแบ่งกำไร เงินลงทุน เงินเพิ่มทุน ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหุ้น ฯลฯ เป็นต้น

● เงินได้ประเภทที่ 5 ได้แก่ เงินจากการให้เช่าทรัพย์สิน หรือประโยชน์อย่างอื่น

● เงินได้ประเภทที่ 6 ได้แก่ เงินได้จากวิชาชีพอิสระซึ่งมีพระราชกฤษฎีกากำหนดชนิดไว้

● เงินได้ประเภทที่ 7 ได้แก่ เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระ ในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ

● เงินได้ประเภทที่ 8 ได้แก่ เงินได้จากการทำธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง การขายอสังหาริมทรัพย์ หรือเงินได้อื่น ๆ นอกเหนือจากที่ระบุไว้ในประเภทที่ 1 ถึงประเภทที่ 7

 

วิธีการคำนวณภาษี

 

การคำนวณภาษีเริ่มจากการรวมเงินได้ทุกประเภท จากนั้นหักค่าใช้จ่าย แล้วค่อยหักค่าลดหย่อนต่าง ๆ ก่อนนำไปคำนวณภาษีตามอัตราก้าวหน้า ดังนี้

 

เงินได้สุทธิ (บาท)อัตราภาษี
0 - 150,000ได้รับยกเว้น
150,001 - 300,0005%
300,001 - 500,00010%
500,001 - 750,00015%
750,001 - 1,000,00020%
1,000,001 - 2,000,00025%
2,000,001 - 5,000,00030%
5,000,001 ขึ้นไป35%

  

3. การจัดการภาษีเมื่อเปลี่ยนงาน หรือออกจากงานระหว่างปี

  

เมื่อมีการเปลี่ยนงาน หรือออกจากงานระหว่างปีควรจะต้องรวบรวมหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) จากทุกบริษัท เพราะคุณจะต้องนำรายได้จากนายจ้างทุกรายมารวมกันเพื่อคำนวณภาษี รวมถึงเอกสารสำคัญอื่น ๆ ด้วย

  

เอกสารสำคัญที่ต้องขอเมื่อเปลี่ยนหรือออกจากงาน

  

● หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) จากทุกบริษัท

● สลิปเงินเดือนที่แสดงรายละเอียดรายรับ และเงินที่หักไป

● หลักฐานการรับโบนัสหรือค่าตอบแทนพิเศษ

● เอกสารการเข้า-ออกงาน

 

การจัดการกับเงินชดเชยเลิกจ้าง (ถ้ามี)

 

กรณีถูกเลิกจ้าง เงินชดเชยจะได้รับการยกเว้นภาษีในส่วนที่ไม่เกินค่าจ้าง 400 วันสุดท้าย แต่จะไม่เกิน 600,000 บาท (เพิ่มจากเดิมที่ยกเว้นไม่เกิน 300,000 บาท) โดยมีผลย้อนหลังตั้งแต่ 1 มกราคม 2566 ส่วนที่เกินจากนี้จะต้องนำไปคำนวณภาษีตามปกติ ทั้งนี้ หากได้จ่ายภาษีจากค่าชดเชยในส่วนที่ได้รับยกเว้นไปแล้ว สามารถยื่นขอคืนภาษีได้ภายใน 3 ปีนับจากวันสุดท้ายของกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษี

 

การจัดการกับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ถ้ามี)

 

เมื่อคุณเปลี่ยนงานหรือทำงานไม่ครบปีในบริษัทที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้แก่พนักงาน มีแนวทางจัดการเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังนี้

 

โดยทั่วไป เงินในกองทุนจะประกอบด้วย 4 ส่วน คือ เงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์จากทั้งสองส่วน ซึ่งเงินสะสมที่หักจากเงินเดือนของคุณจะไม่ต้องเสียภาษีซ้ำ แต่เงินในส่วนอื่น ๆ จะต้องนำไปคำนวณภาษีด้วย

 

หากใครทำงานครบ 5 ปี จะได้สิทธิพิเศษในการคำนวณภาษีที่น้อยลง อย่างไรก็ตาม คุณสามารถเลือกโอนเงินไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของนายจ้างใหม่ หรือโอนไปยังกองทุน RMF for PVD เพื่อยังไม่ต้องเสียภาษีในทันที ซึ่งเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับการวางแผนภาษีและการออมในระยะยาว

 

4. ออกจากงานหรือเปลี่ยนงานกลางปี ลดหย่อนภาษียังไงได้บ้าง ? : สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ควรรู้

 

  

การลดหย่อนภาษีเป็นสิทธิประโยชน์สำคัญที่ช่วยลดภาระภาษีได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีรายละเอียดดังนี้

รายการลดหย่อนภาษี ปี 2567

 

1. หมวดค่าลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว

● ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท

● ค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 บาท (กรณีคู่สมรสไม่มีเงินได้)

● ค่าลดหย่อนบุตร คนละ 30,000 - 60,000 บาท

● ค่าลดหย่อนบิดามารดา คนละ 30,000 บาท

● ค่าฝากครรภ์และค่าคลอด ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินห้องละ 60,000 บาท

 

2. หมวดค่าลดหย่อนการออม การลงทุน และประกัน

● เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป ลดหย่อนได้ตามจ่ายจริงไม่เกิน 100,000 บาท

● เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนตามจริงได้ สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท

● เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา ลดหย่อนตามจ่ายจริงไม่เกิน 15,000 บาท

● กองทุน RMF ลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้พึงประเมิน ไม่เกิน 500,000 บาท (เมื่อรวมกับกองทุนอื่น ๆ)

● กองทุน SSF ลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้พึงประเมิน ไม่เกิน 200,000 บาท

● กองทุนไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) ลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้พึงประเมิน ไม่เกิน 300,000 บาท

● เงินลงทุนธุรกิจ Social Enterprise (วิสาหกิจเพื่อสังคม) ลดหย่อนตามจ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท

 

3. หมวดค่าลดหย่อนเพื่อส่งเสริมการศึกษาและบริจาค

● เงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม และโรงพยาบาลรัฐ ลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินบริจาค ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อนอื่น ๆ

● เงินบริจาคให้พรรคการเมือง ลดหย่อนได้ไม่เกิน 10,000 บาท

● เงินบริจาคทั่วไป ลดหย่อนได้ 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อนอื่น ๆ

 

4. หมวดค่าลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ/สร้างที่อยู่อาศัย

● ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่อยู่อาศัย ลดหย่อนได้ตามจ่ายจริงไม่เกิน 100,000 บาท

 

5. หมวดค่าลดหย่อนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

● ค่าลดหย่อน Easy E-Receipt 2567 ลดหย่อนตามจ่ายจริงแต่ไม่เกิน 50,000 บาท

● ค่าลดหย่อนเที่ยวเมืองรอง 2567 ลดหย่อนตามจ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท

● ค่าสร้างบ้านใหม่ 2567-2568 ลดหย่อนได้ 10,000 บาทต่อจำนวนค่าก่อสร้างที่จ่ายจริงทุกหนึ่งล้านบาท แต่รวมแล้วไม่เกิน 100,000 บาท

● ค่าซ่อมแซมบ้านน้ำท่วม 2567 ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท

● ค่าซ่อมแซมรถน้ำท่วม 2567 ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท

 

5. ขั้นตอนและช่องทางการยื่นภาษี

 

การยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี พ.ศ. 2567 สามารถทำได้ 2 วิธีดังนี้

● การยื่นแบบออฟไลน์ : สามารถยื่นได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 31 มีนาคม พ.ศ. 2568 โดยสามารถยื่นที่สำนักงานสรรพากรในพื้นที่ สำนักงานสรรพากรสาขา หรือส่งทางไปรษณีย์แบบลงทะเบียน

● การยื่นผ่านช่องทางออนไลน์ : สามารถยื่นได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 8 เมษายน พ.ศ. 2568 ผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร (www.rd.go.th) หรือแอปพลิเคชัน RD Smart Tax ซึ่งให้บริการ 24 ชั่วโมง

  

เอกสารที่ต้องเตรียมประกอบด้วย

    

1. แบบฟอร์ม ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91

○ แบบ ภ.ง.ด.90 - สำหรับผู้มีเงินได้จากการจ้างแรงงาน เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง และมีเงินได้ประเภทอื่นด้วย

○ แบบ ภ.ง.ด.91 - สำหรับผู้มีเงินได้จากการจ้างแรงงานประเภทเดียว เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง เพียงอย่างเดียว

2. หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ)

3. สำเนาบัตรประชาชน

4. หลักฐานการลดหย่อนภาษีต่าง ๆ เช่น กรมธรรม์ประกัน หลักฐานการลงทุนในกองทุน ใบเสร็จรับเงินค่าเล่าเรียนบุตร และหลักฐานการบริจาค

  

ขั้นตอนการยื่นแบบออนไลน์

  

1. เข้าเว็บไซต์กรมสรรพากรหรือแอป RD Smart Tax

2. ลงทะเบียน/เข้าสู่ระบบด้วยเลขประจำตัวผู้เสียภาษี

3. เลือกแบบฟอร์มที่ต้องการยื่น (ภ.ง.ด.90 หรือ 91)

4. กรอกข้อมูลรายได้และรายการลดหย่อน

5. ระบบคำนวณภาษีให้อัตโนมัติ

6. ตรวจสอบความถูกต้องและยืนยันการยื่นแบบ

7. เลือกวิธีชำระภาษี (ถ้ามี) เช่น ชำระผ่านอินเทอร์เน็ต หักบัญชีธนาคาร บัตรเครดิต

  

แนะนำเทคนิคการใช้สิทธิประโยชน์อย่างคุ้มค่า

 

1. วางแผนการลงทุนและทำประกันภัยให้ครบวงเงินสูงสุดที่ลดหย่อนได้

2. เลือกลงทุนในกองทุนที่มีความเสี่ยงเหมาะสมกับตัวเอง

3. ศึกษาเงื่อนไขการลงทุนอย่างละเอียด โดยเฉพาะระยะเวลาถือครอง

4. เก็บหลักฐานการลดหย่อนให้ครบถ้วน เช่น ใบเสร็จ หนังสือรับรองการบริจาค

5. ใช้สิทธิลดหย่อน Easy E-Receipt ที่ช่วยจัดเก็บและรวบรวมใบเสร็จอิเล็กทรอนิกส์ ลดหย่อนได้สูงสุด 50,000 บาท

  

การยื่นภาษีสำหรับผู้ที่ทำงานไม่เต็มปีหรือเปลี่ยนงานกลางปีไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอีกต่อไป หากเข้าใจหลักการพื้นฐานและเตรียมเอกสารให้พร้อม สิ่งสำคัญคือจำเป็นจะต้องเก็บหลักฐานการรับรายได้และเอกสารการหักภาษี ณ ที่จ่ายจากทุกแหล่งรายได้ให้ครบถ้วน และวางแผนการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีให้เหมาะสม ซึ่งการเลือกซื้อประกันสะสมทรัพย์ที่ใช้ลดหย่อนภาษีได้จากพรูเด็นเชียล ประกันชีวิต ก็เป็นอีกเครื่องมือในการลดหย่อนภาษีที่ไม่ควรมองข้าม ผู้ที่สนใจสามารถเลือกซื้อประกันชีวิตทางออนไลน์ได้เลย

  

ข้อมูลอ้างอิง

1. ครม.เห็นชอบปรับเกณฑ์ ยกเว้นภาษี "ค่าชดเชย" ช่วยลูกจ้าง

2. ตอบปัญหาเรื่องภาษี ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มนุษย์เงินเดือนควรรู้

3. ค่าลดหย่อน (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา)