Date  
15th July 2024

ด้วยพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนในปัจจุบัน ทำให้เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ ได้มากขึ้น ซึ่งบางโรคก็ไม่แสดงอาการให้เห็นในช่วงแรก ทำให้กว่าจะรู้ตัว ก็ป่วยหนักจนรักษาหายได้ยาก ทั้งยังทำให้สิ้นเปลืองค่ารักษาพยาบาลเป็นจำนวนมากอีกด้วย

 

ดังนั้นเพื่อให้รู้เท่าทันสภาวะร่างกาย และปัญหาด้านสุขภาพของตนเอง การตรวจสุขภาพประจำปีจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรให้ความสำคัญ เพราะว่าโรคร้ายยิ่งพบไว รักษาได้ทันท่วงที ก็มีโอกาสหายได้ แต่ในการตรวจสุขภาพประจำปีจำเป็นต้องตรวจอะไรบ้าง ? บทความนี้รวบรวมข้อมูลควรรู้มาไว้ให้แล้ว

 

การตรวจสุขภาพประจำปี คืออะไร ?

 

การตรวจสุขภาพประจำปี คือการตรวจร่างกายโดยรวม เพื่อให้รู้ถึงความผิดปกติหรือโรคที่อาจแฝงอยู่ โดยแพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจวิเคราะห์เลือด ปัสสาวะ ตรวจการเต้นของหัวใจ และอาจมีการตรวจเพิ่มเติม ขึ้นอยู่กับเพศ อายุ และปัจจัยเสี่ยงของแต่ละบุคคล

 

การตรวจสุขภาพประจำปี มีประโยชน์อย่างไร ?

  

ติดตามการเปลี่ยนแปลงของสุขภาพ

 

ประโยชน์ประการแรกของการตรวจสุขภาพประจำปี คือช่วยให้ผู้รับการตรวจสุขภาพสามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงของร่างกายได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อจะได้รู้ว่าควรดูแลตนเองด้านใดเป็นพิเศษ หรือต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสมกับสภาวะของร่างกายอย่างไร เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคเรื้อรังในอนาคต

 

ประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรค

 

ในการตรวจสุขภาพประจำปี แพทย์จะประเมินความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับผู้เข้ารับการตรวจ เพื่อเป็นการลดและเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคเหล่านั้น

 

ค้นหารอยโรคตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น

 

การตรวจสุขภาพประจำปี ยังช่วยให้แพทย์สามารถตรวจพบความผิดปกติหรือโรคตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น เพื่อวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม และทันท่วงที ทั้งยังช่วยป้องกันไม่ให้อาการของโรครุนแรงและลุกลาม จนยากที่จะรักษาให้หาย หรือเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

  

  

การตรวจสุขภาพประจำปี ต้องตรวจอะไรบ้าง ?

 

สำหรับผู้ที่ต้องการตรวจสุขภาพประจำปี แต่ยังไม่รู้ว่าต้องตรวจอะไรบ้าง เรามีรายการตรวจสุขภาพที่เหมาะกับการตรวจหาโรคเบื้องต้นมาฝากดังนี้

 

● การตรวจร่างกายทั่วไป โดยบุคลากรทางการแพทย์จะทำการซักประวัติ วัดน้ำหนัก วัดส่วนสูง และทำการตรวจวัดความดันโลหิต

 

● การตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ แบ่งออกเป็นรายการตรวจวัดเหล่านี้

    ○ ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) โดยจะเป็นการตรวจเลือดเพื่อวิเคราะห์จำนวนและลักษณะของเม็ดเลือดทั้งสามชนิด ได้แก่ เม็ดเลือดแดง (RBC) เม็ดเลือดขาว (WBC) และเกล็ดเลือด (PLT)

    ○ ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด (FBS) เป็นการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดหลังจากอดอาหารเป็นเวลา 8-12 ชั่วโมง เพื่อการวินิจฉัยโรคเบาหวาน

    ○ ตรวจวัดระดับค่าน้ำตาลเฉลี่ยสะสม (HbA1c) เป็นการตรวจวัดปริมาณน้ำตาลที่สะท้อนให้เห็นถึงระดับน้ำตาลสะสมในเลือด เพื่อการวินิจฉัยหรือติดตามโรคเบาหวาน

    ○ ตรวจวัดระดับไขมันในเลือด โดยจะเป็นการตรวจวัดระดับไขมันคอเลสเตอรอลรวม ไม่ว่าจะเป็นไขมันคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) และไขมันคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) รวมถึงไขมันไตรกลีเซอไรด์

    ○ ตรวจระดับกรดยูริก (Uric Acid) เป็นการตรวจวัดระดับกรดยูริกที่อยู่ในกระแสเลือด ช่วยวินิจฉัยและติดตามผลการรักษาโรคเกาต์

    ○ ตรวจการทำงานของไต ด้วยการตรวจวัดระดับปริมาณของเสียในเลือด (BUN) เพื่อตรวจวัดประสิทธิภาพการทำงานของไตในการขับของเสียออกจากร่างกาย

    ○ ตรวจวัดระดับค่าของครีเอตินินในเลือด (Cr) เพื่อตรวจวัดประสิทธิภาพการทำงานของไต

    ○ ตรวจไวรัสตับอักเสบ (hepatitis A, B) โดยเป็นการตรวจหาไวรัส เพื่อวินิจฉัยโรคตับอักเสบ และติดตามผลการรักษาโรค

    ○ ตรวจการทำงานของตับ จากการตรวจค่าเอนไซม์ AST, ALT และ ALP เพื่อวัดประสิทธิภาพการทำงานของตับ

 

● ตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ เพื่อวินิจฉัยโรคไทรอยด์เป็นพิษ และโรคไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ

 

● ตรวจไวรัสตับอักเสบ เพื่อการตรวจหาไวรัสตับอักเสบ ช่วยวินิจฉัยและติดตามผลการรักษา

 

● ตรวจสารบ่งชี้มะเร็ง โดยการตรวจประเภทนี้ จะไม่ได้มีขึ้นเพื่อวินิจฉัยโรคมะเร็ง แต่ใช้เพื่อค้นหาความเสี่ยงหรือติดตามผลการรักษามะเร็ง

 

● ตรวจปัสสาวะ เป็นการตรวจวัดค่าต่าง ๆ เช่น โปรตีน น้ำตาล เม็ดเลือดขาว และเซลล์เม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคทางเดินปัสสาวะ โรคไต โรคเบาหวาน และความผิดปกติอื่น ๆ

 

● ตรวจอุจจาระ เป็นการตรวจหาเลือด ไข่พยาธิ และแบคทีเรีย เพื่อช่วยวินิจฉัยโรคทางเดินอาหาร การติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร และมะเร็งลำไส้

 

● ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) เพื่อวินิจฉัยโรคหัวใจ และความผิดปกติของการเต้นของหัวใจ

 

● เอกซเรย์ปอด เพื่อช่วยวินิจฉัยโรคปอด เช่น ปอดอักเสบ วัณโรค และมะเร็งปอด

 

● ตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้อง เพื่อช่วยวินิจฉัยโรคของอวัยวะในช่องท้อง เช่น ตับ ไต ม้าม ถุงน้ำดี และอวัยวะสืบพันธุ์

 

● ตรวจวัดความสามารถในการมองเห็น เพื่อช่วยวินิจฉัยความผิดปกติของสายตา เช่น สายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียง

 

ควรตรวจสุขภาพปีละกี่ครั้ง ควรตรวจตั้งแต่อายุเท่าไร ?

 

เมื่อได้รู้แล้วว่าการตรวจสุขภาพประจำปีต้องตรวจอะไรบ้าง หลายคนอาจยังสงสัยเพิ่มเติมว่า ควรตรวจสุขภาพปีละกี่ครั้ง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วควรตรวจสุขภาพประจำปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยควรเริ่มตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป

 

ทั้งนี้ ผู้ที่มีโรคประจำตัวอาจต้องตรวจสุขภาพบ่อยขึ้นตามคำแนะนำของแพทย์ รวมถึงผู้ที่สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงอื่น ๆ ควรต้องตรวจสุขภาพบ่อยขึ้นด้วยเช่นกัน

 

เตรียมตัวอย่างไร ? ก่อนไปตรวจสุขภาพ

 

ในส่วนของการเตรียมตัวก่อนไปตรวจสุขภาพ มีดังนี้

1. โทรนัดหมายกับโรงพยาบาลหรือคลินิกที่ต้องการตรวจ โดยแจ้งเพศ อายุ และประวัติสุขภาพคร่าว ๆ รวมถึงสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการเตรียมตัวเพิ่มเติม

2. งดอาหารและน้ำดื่ม 8-12 ชั่วโมงก่อนตรวจเลือด เพื่อให้ผลการตรวจเลือดแม่นยำ

3. นอนหลับพักผ่อนอย่างน้อย 7-8 ชั่วโมง

4. เตรียมบัตรประชาชน หรือบัตรประกันสุขภาพ และเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

5. สวมใส่เสื้อผ้าที่หลวม ๆ ถอดง่าย สะดวกต่อการตรวจร่างกาย

6. ระหว่างการตรวจสุขภาพ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อผลลัพธ์ที่แม่นยำมากที่สุด

ถึงแม้ว่าการตรวจสุขภาพประจำปี จะช่วยให้รู้เท่าทันความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ แล้ว การทำประกันสุขภาพก็ช่วยเพิ่มความอุ่นใจ ว่าหากเจ็บป่วยไปจะมีค่ารักษาพยาบาล โดยไม่ต้องกระทบเงินออม ซึ่งสำหรับคนที่ต้องการเตรียมความพร้อม และสร้างหลักประกันเพื่อสุขภาพ มาเลือกซื้อประกันชีวิตและสุขภาพแบบเหมาจ่าย PRUe-Healthcare Plus จากพรูเด็นเชียล ประกันชีวิตเลย

  

ข้อมูลอ้างอิง

1. ตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจอะไรบ้าง?. สืบค้นเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2567 จาก https://www.nonthavej.co.th/health-check-up.php

2. ตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจอะไรบ้าง และมีข้อดีอย่างไร?. สืบค้นเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2567 จาก https://www.krungthaihospital.com/things-to-know-about-annual-health-check-ups/

3. การเตรียมตัวก่อนการตรวจสุขภาพ. สืบค้นเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2567 จาก https://pathlab.co.th/preparation-health-check-up/