Date  
22nd March 2024

ฟรีแลนซ์และคนทำอาชีพอิสระ อาชีพที่หลาย ๆ คนใฝ่ฝัน เพราะไม่ต้องอยู่ในกรอบ ไม่ต้องเป็นลูกน้องใคร เป็นนายตัวเอง แต่ก็ต้องเผชิญความเสี่ยงในหลาย ๆ ด้าน เนื่องจากมีรายได้ที่ไม่แน่นอนและไม่มีสวัสดิการจากบริษัทเพิ่มเติม แต่ไม่ต้องกังวลใจไป เพราะถึงแม้จะทำอาชีพอิสระ ก็สามารถเตรียมความพร้อมให้แก่ตัวเองได้แบบง่าย ๆ ด้วยการทำประกันชีวิตและประกันสุขภาพเอาไว้ อุ่นใจ หมดห่วงแม้ว่าต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล

 

ประกันสำหรับอาชีพฟรีแลนซ์สำคัญอย่างไร ?

  

อาชีพฟรีแลนซ์ เป็นชื่อเรียกกลุ่มคนที่ทำอาชีพอิสระ อย่างนักเขียน นักแปล นักออกแบบ สถาปนิก ทนาย หรืออาชีพอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้สังกัดหรือบริษัทใดโดยเฉพาะ สามารถเลือกรับงานที่สนใจหรือมีค่าตอบแทนที่คุ้มค่า และตรงกับความต้องการเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศ สามารถทำงานได้ทุกที่ ทุกเวลา

 

ด้วยความที่ไม่ได้สังกัดหน่วยงานหรือบริษัทใด ทำให้คนที่ทำอาชีพฟรีแลนซ์ต้องเตรียมพร้อมด้านสวัสดิการการรักษาพยาบาลให้ตัวเอง เพื่อลดความเสี่ยงด้านการเงิน ในกรณีที่เจ็บป่วย ไม่สามารถทำงานได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคทั่วไป หรือโรคร้ายแรง ทำให้ผู้ที่ทำงานฟรีแลนซ์ ควรจะเตรียมหลักประกัน รวมถึงซื้อประกันที่เหมาะสำหรับฟรีแลนซ์เอาไว้ จะได้อุ่นใจ ไม่ต้องใช้เงินเก็บในการจ่ายค่ารักษาพยาบาล

 

 

หลักประกันสำหรับคนทำฟรีแลนซ์ที่ควรซื้อเก็บเอาไว้

 

สำหรับคนที่ทำอาชีพอิสระ การวางแผนทางการเงินเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง การลดความเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ที่ไม่สามารถคาดเดาได้เลย แต่จะมีประกันแบบไหนบ้าง ที่แนะนำให้ทำเก็บเอาไว้ ไปดูกันเลย

 

ประกันสังคม

 

หลายคนคิดว่า “ประกันสังคม” คือ ประกันสำหรับผู้ที่ทำงานออฟฟิศ หรือมีต้นสังกัดเท่านั้น แต่ที่จริงแล้ว คนทำอาชีพฟรีแลนซ์ก็สามารถสมัครประกันสังคมได้เช่นเดียวกัน แต่จะถือคนละมาตรา กล่าวคือ อยู่ภายใต้ความคุ้มครองของประกันสังคมมาตรา 40 ซึ่งจะช่วยคุ้มครองครอบคลุมหลายด้าน เพิ่มความอุ่นใจให้กับคนที่ไม่มีรายได้ประจำ โดยมีเงื่อนไขสำคัญว่า ผู้ประกันตนจะต้องเป็นบุคคลทั่วไปที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ รวมถึงเป็นการทำงานที่ไม่มีนายจ้าง

 

ผู้ประกันตนตามประกันสังคม มาตรา 40 สามารถเลือกจ่ายได้ 3 ทางเลือก คือ เดือนละ 70 บาท 100 บาท และ 300 บาท ซึ่งจะมีความคุ้มครองหลัก ๆ ดังนี้

 

● เจ็บป่วย ไม่ได้รับความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล แต่จะได้รับเป็นค่าทดแทนรายได้ เมื่อนอนพักรักษาตัวในฐานะผู้ป่วย 1 วันขึ้นไป วันละ 300 บาท และกรณีพักรักษาตัวที่บ้านตามความเห็นของแพทย์ 3 วันขึ้นไป วันละ 200 บาท และต้องมีใบรับรองแพทย์ประกอบการยื่นขอความคุ้มครองด้วย

● กรณีทุพพลภาพ รับเงินทดแทนขาดรายได้ เดือนละ 500 - 1,000 บาท (ขี้นกับระยะเวลาการส่งเงินสมทบ)

● สงเคราะห์บุตร ที่มีอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปีบริบูรณ์ จำนวน 200 บาทต่อคนต่อเดือน คราวละไม่เกิน 2 คน (เฉพาะผู้ที่จ่าย 300 บาทต่อเดือน)

● กรณีชราภาพหรือเกษียณอายุ ได้รับเงินก้อนตามจำนวนเงินที่สมทบ

● กรณีเสียชีวิต ได้รับเงินค่าทำศพ (จ่ายให้ผู้จัดการศพ)

 

ประกันสุขภาพ

  

ทำแค่ประกันสังคมอาจจะไม่เพียงพอต่อความเสี่ยง การทำประกันสุขภาพสำหรับฟรีแลนซ์จึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น เพราะแม้ว่าจะไม่ได้ทำงานประจำ แต่คนทำฟรีแลนซ์บางคนก็ทำงานหนัก และพักผ่อนน้อย ทำให้ป่วยได้บ่อย และเมื่อเจ็บป่วยหรือต้องนอนโรงพยาบาลจะได้ไม่ต้องควักเงินเก็บมาใช้จ่าย

 

แต่มนุษย์ฟรีแลนซ์จะทำประกันสุขภาพแบบไหนดี ? ถึงจะคุ้มค่าและตรงกับความต้องการ

 

คำตอบคือ ประกันเหมาจ่าย เพราะประกันเหมาจ่าย เป็นประกันที่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลที่ครอบคลุมทั้งการเข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก นอนโรงพยาบาล และโรคร้ายแรง

  

นอกจากความคุ้มครองที่กล่าวไปแล้ว แนะนำให้เลือกซื้อประกันเงินชดเชยรายได้ เมื่อนอนโรงพยาบาลเสริมเข้าไปด้วย เพื่อเพิ่มความคุ้มครองในวันที่ต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล หมดห่วงทั้งเรื่องค่าใช้จ่าย และรายได้ที่สูญเสียไป

 

ประกันสะสมทรัพย์ หรือประกันบำนาญ

  

นอกจากเรื่องสุขภาพแล้ว การวางแผนเกษียณก็เป็นสิ่งสำคัญที่คนทำฟรีแลนซ์จะต้องวางแผนตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการมีอิสรภาพทางการเงิน และต้องการสร้างหลักประกันในการใช้ชีวิต

 

ประกันที่แนะนำสำหรับผู้ที่กำลังวางแผนเกษียณ หลัก ๆ แล้วมีอยู่ 2 ประเภท คือ ประกันสะสมทรัพย์ และประกันบำนาญ

 

● ประกันสะสมทรัพย์ คือ ประกันที่ให้ความคุ้มครองชีวิต และช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้เอาประกัน โดยบางแผนประกันจะมีเงินคืนระหว่างทาง และหากว่าอยู่ครบสัญญาจะได้รับเงินก้อน ที่สำคัญคือ ผลตอบแทนจากประกันสะสมทรัพย์ไม่ถูกนำมาคิดภาษี และหากว่ามีความคุ้มครองเกิน 10 ปี

● ประกันบำนาญ คือ ประกันที่ผู้เอาประกันจะต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยแบบยาว ๆ ไปจนถึงอายุ 55 ปี หรืออายุตามที่กรมธรรม์กำหนด หลังจากนั้นจะได้รับเงินเป็นงวด ในรูปแบบของบำนาญหลังเกษียณอายุ

 

ทั้งประกันสะสมทรัพย์และประกันบำนาญ สามารถนำเบี้ยประกันภัยไปลดหย่อนภาษีประจำปีได้ด้วย โดยประกันสะสมทรัพย์มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นแผนที่มีความคุ้มครองเกิน 10 ปี ส่วนประกันบำนาญจะต้องจ่ายเบี้ยประกันตามระยะเวลาที่กำหนด และเมื่อรวมเบี้ยประกันภัยทั้งสองแบบแล้ว สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 300,000 บาท

 

ปัจจุบันมีประกันสะสมทรัพย์และประกันบำนาญให้เลือกหลากหลายแผนตามความเหมาะสม และเป้าหมายทางการเงิน

  

ประกันชีวิต แบบตลอดชีพหรือแบบชั่วระยะเวลา

 

สำหรับคนที่เป็นเสาหลักของครอบครัว การทำประกันชีวิต แบบตลอดชีพหรือแบบชั่วระยะเวลา เป็นการสร้างหลักประกันให้กับคนที่อยู่ข้างหลัง ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ลูก หรือคู่ชีวิต การทำประกันชีวิตเป็นหนึ่งในการสร้างหลักประกันในวันที่เราจากไป

 

ประกันชีวิต แบบตลอดชีพหรือแบบชั่วระยะเวลา เป็นหนึ่งในประกันที่เบี้ยประกันต่อปีราคาไม่แพงมาก แต่ให้ความคุ้มครองที่ค่อนข้างสูง โดยให้ความคุ้มครองในกรณีดังต่อไปนี้

 

● เสียชีวิต ผลประโยชน์จะจ่ายให้แก่ผู้รับผลประโยชน์ตามที่ระบุเอาไว้ในกรมธรรม์

● ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง สูญเสียอวัยวะ

 

สิ่งที่ต้องทราบก็คือ ประกันชีวิตทั้งแบบตลอดชีพและแบบชั่วระยะเวลา จะไม่ได้รับเงินคืนระหว่างสัญญา โดยประกันตลอดชีพจะได้รับเมื่อครบสัญญา แต่ประกันแบบชั่วระยะเวลาจะไม่ได้รับเงินเบี้ยประกันคืนเลย แต่แลกมาด้วยวงเงินความคุ้มครองที่สูงกว่านั่นเอง

 

ฟรีแลนซ์ คนทำอาชีพอิสระ วางแผนทำประกันเอาไว้ อุ่นใจกว่า ไม่ว่าจะเป็นประกันสุขภาพรายปี ที่เจ็บป่วยเมื่อไรไม่ต้องควักเงินก้อน มีเงินชดเชยในวันที่ต้องนอนโรงพยาบาล ประกันสะสมทรัพย์และประกันบำนาญ ที่ช่วยสร้างความมั่นคงทางการเงินในวัยเกษียณ รวมถึงประกันชีวิตแบบตลอดชีพหรือแบบชั่วระยะเวลา เพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่คนข้างหลัง ที่สำคัญเบี้ยประกัน ภัยสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ตามกฎหมาย เช็กเบี้ยประกัน ภัยออนไลน์จากพรูเด็นเชียลได้เลย

 

ข้อมูลอ้างอิง

1. ฟรีแลนซ์สมัครเป็นผู้ประกันตน มาตรา 40 ดีมั้ย?

2. ก่อนวางแผนเกษียณอายุต้องรู้ ประกันบำนาญ คืออะไร