Date  
26th March 2025

อาชีพฟรีแลนซ์ให้ความอิสระในการทำงานและจัดการเวลาได้ตามใจ แต่เมื่อถึงเวลาต้องยื่นภาษี หลายคนอาจรู้สึกสับสนว่า คนเป็นฟรีแลนซ์ต้องยื่นภาษีหรือไม่ ?

 

สำหรับการยื่นภาษี ถือเป็นหน้าที่สำคัญของผู้ที่มีรายได้ทุกคน รวมถึงเหล่าคนทำงานฟรีแลนซ์เช่นกัน บทความนี้จะพาไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีที่ฟรีแลนซ์ต้องเสีย และวิธีการยื่นภาษีสำหรับฟรีแลนซ์แบบง่าย ๆ ที่ช่วยให้คุณจัดการภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ใครบ้างที่จัดอยู่ในอาชีพฟรีแลนซ์ ?

 

อาชีพฟรีแลนซ์ คือ ผู้ที่ทำงานรับจ้างอิสระโดยไม่ได้สังกัดหน่วยงานหรือบริษัทใดบริษัทหนึ่ง ลักษณะการทำงานจะเป็นการรับจ้างเป็นงาน ๆ ไป เช่น นักเขียน กราฟิกดีไซเนอร์ นักแปลภาษา โปรแกรมเมอร์ และอื่น ๆ โดยอาชีพฟรีแลนซ์ยังมีหน้าที่ในการยื่นภาษีไม่ต่างจากพนักงานประจำทั่วไป

 

ฟรีแลนซ์ต้องเสียภาษีอะไรบ้าง ?

 

คนที่ทำอาชีพฟรีแลนซ์ ควรจะต้องรู้ว่า ตนเองต้องเสียภาษีประเภทใดบ้าง โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

 

รายได้จากการทำงานฟรีแลนซ์ถือเป็นแหล่งเงินได้ประเภทที่ 2 และ ประเภทที่ 8 ตามกฎหมาย โดยมีวิธีการคำนวณภาษีเงินได้ ดังนี้

● เงินได้ (ต่อปี) - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ

● เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี = เงินภาษีที่ต้องจ่าย

 

2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

 

หากมีรายได้จากการขายสินค้าหรือบริการเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี หรือ มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องเสียภาษี 7%

 

3. ภาษีธุรกิจเฉพาะ

 

หากประกอบกิจการบางประเภท เช่น งานให้เช่าทรัพย์สิน หรือการซื้อขายหลักทรัพย์ จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามอัตราที่กฎหมายกำหนด

 

สิ่งที่ต้องรู้เกี่ยวกับการยื่นภาษีเงินได้ของฟรีแลนซ์

 

อัตราภาษีเงินได้แบบบขั้นบันได

 

อัตราภาษีเงินได้สำหรับฟรีแลนซ์ จะใช้อัตราเดียวกับผู้มีรายได้ประจำ โดยใช้อัตราแบบขั้นบันไดที่แบ่งตามรายได้สุทธิ ดังนี้

● เงินได้สุทธิ 0-150,000 บาท : ยกเว้นภาษี

● เงินได้สุทธิ 150,001-300,000 บาท : อัตราภาษี 5%

● เงินได้สุทธิ 300,001-500,000 บาท : อัตราภาษี 10%

● เงินได้สุทธิ 500,001-750,000 บาท : อัตราภาษี 15%

● เงินได้สุทธิ 750,001-1,000,000 บาท : อัตราภาษี 20%

● เงินได้สุทธิ 1,000,001-2,000,000 บาท : อัตราภาษี 25%

● เงินได้สุทธิ 2,000,001-5,000,000 บาท : อัตราภาษี 30%

● เงินได้สุทธิ ตั้งแต่ 5,000,001 บาท : อัตราภาษี 35%

 

การหักค่าใช้จ่ายตามประเภทของรายได้

 

อย่างที่บอกไปว่า รายได้ของฟรีแลนซ์จะแบ่งเป็นเงินได้ประเภทที่ 2 และประเภทที่ 8 ซึ่งรายละเอียดของการหักค่าใช้จ่ายมีดังนี้

● ประเภทที่ 2 : ค่าตอบแทนจากการรับจ้างทำงาน โดยฟรีแลนซ์สามารถหักค่าใช้จ่ายได้เพียง 50% ของเงินได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท

● ประเภทที่ 8 : รายได้จากการขายสินค้าหรือบริการออนไลน์ โดยฟรีแลนซ์สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ตามจริง (ต้องมีหลักฐานค่าใช้จ่ายครบถ้วน) หรือหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 60% ของเงินได้ (ไม่ต้องมีหลักฐานค่าใช้จ่าย)

 

ประเภทของภาษีฟรีแลนซ์ที่ต้องยื่น

ผู้ที่ทำงานเป็นฟรีแลนซ์ จะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แบบ ภ.ง.ด.90 โดยปกติจะต้องยื่นให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคมของทุกปี

    

   

ฟรีแลนซ์ยื่นภาษียังไง ?

 

1. เตรียมเอกสารและข้อมูลให้พร้อม

● รายการรายได้ตลอดปี เช่น ใบเสร็จรับเงิน หรือ Statement ธนาคาร

● รายการลดหย่อนภาษี เช่น เบี้ยประกันสุขภาพ เบี้ยประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ หรือการบริจาค

 

2. เช็กช่องทางการยื่นภาษี ภ.ง.ด.90

ยื่นภาษีฟรีแลนซ์ได้ 3 ช่องทาง

1. ยื่นผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร (www.rd.go.th)

2. ยื่นผ่านแอปพลิเคชัน RD Smart Tax

3. ยื่นผ่านสำนักงานสรรพากรพื้นที่

 

3. กรอกข้อมูลเรื่องรายได้

ระบุประเภทของรายได้และจำนวนเงินที่ได้รับในปีภาษี

 

4. ใส่รายการลดหย่อนภาษี

รวบรวมค่าลดหย่อนส่วนตัวและเงินบริจาค ตามที่กรมสรรพากรกำหนด เช่น

● ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว

○ ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัวได้สูงสุด 60,000 บาท

○ ลดหย่อนด้วยภาษีคู่สมรสได้สูงสุด 60,000 บาท

○ ลดหย่อนด้วยค่าฝากครรภ์และคลอดบุตรไม่เกินครรภ์ละ 60,000 บาท

● ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มประกัน เงินออม และการลงทุน

○ เบี้ยประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์สูงสุด 100,000 บาท

○ เบี้ยประกันสุขภาพ และเบี้ยประกันอุบัติเหตุ โดยเบี้ยประกันภัยในส่วนของความคุ้มครองสุขภาพ สามารถนำมาใช้เป็นสิทธิประโยชน์ทางภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 25,000 บาทต่อปี (เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกรมสรรพากร)

○ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ได้สูงสุด 500,000 บาท

○ กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ได้สูงสุด 200,000 บาท

● ค่าลดหย่อนกลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ

○ ลดหย่อน Easy E-Receipt ได้สูงสุด 50,000 บาทต่อคน

○ ลดหย่อนดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัยได้สูงสุด 100,000 บาท

 

5. ตรวจสอบข้อมูลและยื่นภาษี

เมื่อกรอกข้อมูลครบถ้วน ตรวจสอบความถูกต้อง และกดยื่นภาษี

 

6. ติดตามการคืนภาษี

หากมีสิทธิ์ได้รับภาษีคืน สามารถตรวจสอบสถานะผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร

 

  

FAQ : การยื่นภาษีของฟรีแลนซ์

 

Q : หากฟรีแลนซ์โดนหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% ยังจะต้องเสียภาษีเพิ่มหรือไม่ ?

 

A : การหักภาษี 3% เป็นเพียงการหัก ณ ที่จ่าย โดยผู้ว่าจ้างเป็นผู้หักก่อนจ่ายเงินให้ หลังจากนั้นฟรีแลนซ์ยังต้องยื่นภาษีและคำนวณภาษีสุทธิเองตามรายได้ที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี หากมีภาษีส่วนต่างก็ต้องชำระเพิ่มเติม

 

Q : ต้องมีเงินได้เท่าไรถึงต้องยื่นแบบภาษี ?

 

A : ผู้ที่มีรายได้ต่อปีตั้งแต่ 120,000 บาท หรือเดือนละ 10,000 บาท ต้องยื่นแบบภาษี

 

วางแผนภาษีให้คุ้มค่า ด้วยประกันออมทรัพย์ลดหย่อนภาษีกับพรูเด็นเชียล ประกันชีวิต

 

สำหรับฟรีแลนซ์ การวางแผนภาษีอย่างถูกต้องจะช่วยลดภาระทางการเงินได้ และหากต้องการลดหย่อนภาษีไปพร้อมกับการออมเงินในอนาคต ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ PRUEasy Saver 10/4 จากพรูเด็นเชียล ประกันชีวิต คือทางเลือกที่ตอบโจทย์ เพราะจ่ายเบี้ยประกันเภัยพียง 4 ปี แต่ได้รับความคุ้มครองยาวนานถึง 10 ปี อีกทั้งยังจะได้รับเงินเมื่อครบกำหนดสัญญา 404% ของจำนวนเงินเอาประกันภัย พร้อมนำไปลดหย่อนภาษีได้นาน 4 ปี สูงสุดปีละ 100,000 บาท ตามหลักเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนด สมัครออนไลน์ได้ง่าย ๆ เพื่อการวางแผนภาษี

 

ข้อมูลอ้างอิง

1. การวางแผนภาษีสำหรับชาวฟรีแลนซ์

2. ภาษีกับฟรีแลนซ์