สำหรับประเทศไทย คงปฏิเสธไม่ได้ว่าฝุ่น PM 2.5 กลายเป็นมลพิษทางอากาศที่หลีกเลี่ยงได้ยากไปเสียแล้ว ซึ่งหลายคนรู้ดีว่า ฝุ่น PM 2.5 อันตรายต่อระบบการหายใจมากเพียงใด จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องหมั่นสังเกตตนเองอยู่เสมอว่ามีอาการแพ้ฝุ่น PM 2.5 หรือได้รับผลข้างเคียงจากการสัมผัสหรือสูดฝุ่น PM 2.5 เข้าไปในปอดหรือไม่ เพื่อที่จะได้หาทางป้องกันและรักษาอย่างทันท่วงที
ในบทความนี้ จะพาทุกคนไปรู้จักกับอาการแพ้ฝุ่น PM 2.5 ว่ามีอาการอย่างไร รวมถึงแนวทางการรักษา ติดตามกันเลย
ฝุ่น PM 2.5 คือฝุ่นละอองที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือเทียบได้กับประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผม ด้วยขนาดที่เล็กจิ๋วนี่เอง ทำให้สามารถผ่าน การกรองของขนจมูกและเข้าสู่ชั้นในของปอดได้อย่างง่ายดาย และเป็นอันตรายอย่างมาก เนื่องจากสามารถก่อให้เกิดอาการแพ้ และการอักเสบของระบบทางเดินหายใจ อีกทั้งยังสามารถเข้าไปในระบบไหลเวียนเลือด และกระจายไปทั่วร่างกาย จนทำร้ายสุขภาพของเราในที่สุด
สำหรับใครที่ต้องเดินทางบนท้องถนนในช่วงเวลาเร่งด่วนที่มีการจราจรติดขัด รวมถึงต้องทำงานกลางแจ้งอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะบริเวณที่มีฝุ่นละอองหนาแน่น ก็อาจมีความเสี่ยงทำให้เกิดอาการแพ้ฝุ่น PM 2.5 ได้ โดยอาการที่มักแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนมีดังนี้
● เกิดผื่นผิวหนัง เป็นตุ่มแดงคัน หรือลมพิษ
● ระคายเคืองตา ตาแดง เปลือกตาบวม มีน้ำตาไหล
● จามบ่อย แน่นในโพรงจมูก แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก มีน้ำมูกแบบใส ๆ
● อาก ารภูมิแพ้ หรือหอบหืดกำเริบ
นอกจากอาการที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว หากร่างกายยังได้รับ PM 2.5 เข้าไปอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ย่อมส่งผลต่อการทำงานของปอด และระบบไหลเวียนของเลือดให้ทำงานแย่ลง อีกทั้งยังจะส่งผลต่อเซลล์ผิว จนดูแก่กว่าวัยและผิวเสื่อมสภาพ นอกจากนี้ ยังนำมาซึ่งความเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายแรงต่าง ๆ เหล่านี้
● โรคระบบทางเดินหายใจ
● โรคถุงลมโป่งพอง
● โรคผิวหนังอักเสบ
● โรคหัวใจและหลอดเลือด
● โรคเยื่อบุตาอักเสบ
เมื่อรู้กันแล้วว่าฝุ่น PM 2.5 มีอันตรายต่อสุขภาพร่างกายมากเพียงใด ทุกคนจึงควรพยายามหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับฝุ่นละอองให้ได้มากที่สุด ซึ่งวิธีป้องกันฝุ่น PM 2.5 ที่สามารถทำได้ มีดังนี้
หลีกเลี่ยงการออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการประกาศว่าค่าฝุ่นละออง PM 2.5 หนาแน่น แต่ถ้าหากจำเป็นต้องออกไปข้างนอกจริง ๆ ให้สวมหน้ากากอนามัยแบบ N95 เพื่อกรองฝุ่นละอองไม่ให้เข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ รวมถึงสวมใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดร่างกายอย่างมิดชิด เพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่น PM 2.5 มาสัมผัสโดนผิวหนังอีกด้วย
ควรทำความสะอาดบ้านให้สะอาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะตามซอกมุมต่าง ๆ เพื่อลดการสะสมของฝุ่นละอองขนาดเล็ก รวมถึงควรดูดฝุ่นผ้าม่าน โซฟา และพรม เพื่อป้องกันการสะสมของฝุ่น PM 2.5
หากอยู่ในอาคาร บ้าน หรือสถานที่ทำงาน รวมถึงที่พักอาศัยของตนเอง ควรเปิดเครื่องฟอกอากาศเป็นประจำ เพื่อเป็นการลดฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ฟุ้งกระจายอยู่ภายใน อีกทั้งยังควรปิดประตู หน้าตาให้มิดชิด เพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่น PM 2.5 เข้ามาได้ โดยเฉพาะบริเวณที่มีฝุ่น PM 2.5 หนาแน่น ยิ่งไม่ควรมองข้ามอย่างเด็ดขาด
ควรติดตามเช็กดัชนีคุณภาพอากาศอยู่เสมอ เพื่อดูว่าพื้นที่ที่กำลังจะไปมีฝุ่นละอองขนาดเล็กมากน้อยเพียงใด หากพบว่ามีฝุ่น PM 2.5 หนาแน่นมาก ควรหลีกเลี่ยงการไปยังบริเวณนั้น เนื่องจากเป็นการป้องกันการสัมผัสฝุ่น PM 2.5 ได้ดีที่สุด
ส่วนคนที่มีอาการแพ้ฝุ่น PM 2.5 สามารถรักษาอาการแพ้ได้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้