Date  
19th August 2024

ระบบทางเดินหายใจเปรียบเสมือนประตูสู่อากาศบริสุทธิ์ที่ช่วยให้ร่างกายได้รับออกซิเจนและขับคาร์บอนไดออกไซด์ออกไป แต่เมื่อใดที่ระบบนี้มีปัญหาย่อมส่งผลต่อสุขภาพโดยรวม ซึ่งหนึ่งในโรคที่พบบ่อย ได้แก่ “โรคมะเร็งปอด”

  

มะเร็งปอด คืออะไร ?

 

มะเร็งปอดเป็นโรคที่เกิดจากการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์ในเนื้อเยื่อปอด เซลล์เหล่านี้แบ่งตัวอย่างรวดเร็วและควบคุมไม่ได้ จนกลายเป็นก้อนเนื้อหรือเนื้องอก ซึ่งสามารถแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้ โดยจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติปี 2565 เผยว่า ในประเทศไทยพบผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ราว 400 คนต่อวัน โดยในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยมะเร็งปอดราว 11 % ทำให้มะเร็งปอดจัดเป็นหนึ่งในโรคมะเร็งที่คนไทยเป็นมากที่สุด

 

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งปอด

 

การทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงจะช่วยให้สามารถป้องกันและตรวจพบโรคได้เร็วขึ้น ซึ่งมีปัจจัยหลัก ได้แก่

  

● การสูบบุหรี่

ในบุหรี่มีสารเคมีมากกว่า 7,000 ชนิด หลายชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งเมื่อสูบบุหรี่ สารเหล่านี้จะเข้าสู่ปอดและทำลายเซลล์ปอด ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ของเซลล์และนำไปสู่การเกิดมะเร็งได้ อีกทั้งควันบุหรี่มือสองยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญสำหรับการเกิดมะเร็งปอดในผู้ที่ไม่สูบบุหรี่

 

● มลพิษทางอากาศ

ในการหายใจแต่ละครั้ง อาจทำให้ได้รับมลพิษในอากาศอย่างคาดไม่ถึง เช่น ฝุ่นละอองขนาดเล็กจากโรงงานอุตสาหกรรม ยานพาหนะ และการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล เมื่อสูดดมเข้าไปจะสะสมในปอดและระคายเคืองเนื้อเยื่อปอด หรือแม้แต่ PM 2.5 ที่สามารถเข้าสู่ปอดและกระแสเลือดได้

 

● อายุ

เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายจะสัมผัสกับปัจจัยเสี่ยงมากขึ้น ทั้งจากการสูบบุหรี่ มลพิษทางอากาศ รวมถึงความเสี่ยงจากการติดเชื้อ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลงทำให้ร่างกายกำจัดเซลล์ที่ผิดปกติได้น้อยลง

 

● พันธุกรรม

ปัจจัยทางพันธุกรรมมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปอด โดยผู้ที่มีเครือญาติเป็นมะเร็งปอดมาก่อน อาจมีความเสี่ยงสูงมากกว่าคนทั่วไป เนื่องจากบางคนอาจมีพันธุกรรมที่ไวต่อผลกระทบของสารก่อมะเร็งได้มากกว่า

 

อาการแบบไหนเป็นสัญญาณเสี่ยงของมะเร็งปอด ?

 

มะเร็งปอดเป็นโรคร้ายแรงที่สามารถคุกคามชีวิต แต่หากตรวจพบตั้งแต่เริ่ม ก็จะมีโอกาสรักษาให้หายดีได้สูงขึ้น การสังเกตอาการผิดปกติของร่างกายจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง โดยสามารถสังเกตมะเร็งปอดได้จากอาการเริ่มต้น ดังนี้

  

● ไอเรื้อรัง โดยเฉพาะการไอที่กินเวลานานกว่า 3 สัปดาห์

● ไอมีเสมหะ อาจมีสีเหลือง เขียว หรือปนเลือด

● เจ็บหน้าอก โดยเฉพาะบริเวณอกด้านข้างหรือหลัง

● หายใจลำบาก หายใจเสียงหวีด

● เหนื่อยง่าย

● น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ

● เสียงแหบพร่า

 

 

วิธีทดสอบปอดง่าย ๆ ด้วยตัวเอง

 

การตรวจสอบสุขภาพปอดเบื้องต้นด้วยตัวเองเป็นสิ่งที่ควรทำเป็นประจำ โดยการทดสอบด้วยตัวเองสามารถช่วยเฝ้าระวังและสังเกตอาการผิดปกติของสุขภาพปอดได้ในเบื้องต้น ทำให้สามารถไปพบแพทย์ได้อย่างทันท่วงที โดยมีวิธีทดสอบง่าย ๆ ดังนี้

 

ตรวจสอบการหายใจ

 

หากพบว่าตัวเองหายใจเร็วผิดปกติ หายใจมีเสียงดัง หรือรู้สึกเหนื่อยล้าง่ายขึ้นกว่าเดิม รวมถึงมีอาการไอเรื้อรัง หายใจลำบากขณะนอนหลับ หรือทำกิจวัตรประจำวันได้ไม่สะดวกเหมือนเคย ก็อาจเป็นสัญญาณเตือนที่บ่งบอกถึงสุขภาพปอดที่มีปัญหา โดยสามารถทดสอบการหายใจเบื้องต้นได้ด้วยการลองปิดจมูกและปากพร้อมกัน แล้วพยายามหายใจเข้าลึก ๆ หากสามารถหายใจเข้าทางจมูกและหายใจออกทางปากได้อย่างสะดวก แสดงว่าการหายใจยังเป็นปกติ แต่ถ้ารู้สึกหายใจลำบาก หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เช่น หายใจขัด หายใจเสียงดัง ก็ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพปอดเพิ่มเติม

 

ตรวจค่าออกซิเจนที่ปลายนิ้ว

 

การตรวจวัดค่าออกซิเจนที่ปลายนิ้วเป็นวิธีง่าย ๆ ที่ช่วยให้รู้ว่าปอดทำงานดีแค่ไหน โดยค่าปกติควรอยู่ที่ 95-98% หากต่ำกว่านี้ อาจแสดงถึงความผิดปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กอย่างละเอียด

 

การตรวจวินิจฉัยมะเร็งปอด

 

การตรวจวินิจฉัยมะเร็งปอดเป็นขั้นตอนสำคัญที่ช่วยยืนยันการเกิดโรคและวางแผนการรักษาที่เหมาะสมที่สุด โดยมีการตรวจวินิจฉัย ดังนี้

  

การตัดชิ้นเนื้อเพื่อวิเคราะห์ (Biopsy)

 

การตัดชิ้นเนื้อเป็นวิธีที่แม่นยำที่สุดในการวินิจฉัยมะเร็งปอด ซึ่งแพทย์จะทำการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อจากบริเวณที่สงสัยว่าเป็นมะเร็ง เพื่อนำมาตรวจวิเคราะห์ด้วยกล้องจุลทรรศน์ เช่น การส่องกล้องเพื่อตัดชิ้นเนื้อ การเจาะชิ้นเนื้อผ่านผิวหนัง หรือการผ่าตัด ซึ่งการตัดชิ้นเนื้อไม่เพียงช่วยยืนยันการวินิจฉัยมะเร็งปอดเท่านั้น แต่ยังช่วยระบุชนิดของมะเร็งปอด ทำให้สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม

 

การตรวจวินิจฉัยด้วยรังสี

 

การตรวจด้วยรังสีเป็นขั้นตอนสำคัญในการวินิจฉัยและติดตามการรักษาโรคมะเร็งปอด โดยมีวิธีการตรวจ เช่น

 

● เอกซเรย์ปอด ซึ่งเป็นการตรวจเบื้องต้นที่ช่วยให้เห็นภาพของปอดและทรวงอก โดยสามารถแสดงความผิดปกติในปอด แต่อาจไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าเป็นมะเร็งหรือไม่

● CT Scan จะให้ภาพที่ละเอียดกว่าการเอกซเรย์ โดยสามารถแสดงตำแหน่ง ขนาด และลักษณะของก้อนเนื้อได้

● PET Scan เป็นการใช้สารกัมมันตรังสีเพื่อแสดงบริเวณที่มีการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ช่วยในการประเมินการแพร่กระจายของมะเร็ง

 

การตรวจยีนกลายพันธุ์ของมะเร็งจากชิ้นเนื้อ หรือเลือด

 

การตรวจยีนกลายพันธุ์เป็นการตรวจหาความผิดปกติของยีนในเซลล์มะเร็ง ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถเลือกยาเคมีบำบัดที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย โดยการนำชิ้นเนื้อจากปอด หรือตัวอย่างเลือดมาตรวจวิเคราะห์

 

บ่อยครั้งที่โรคมะเร็งมักมาโดยไม่มีสัญญาณเตือน เสริมความมั่นใจให้กับการใช้ชีวิต ด้วยประกันมะเร็ง PRUCancer Care ที่พร้อมคุ้มครองโรคมะเร็งทุกระยะ หมดกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายสูง จากการเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง โดยมีเบี้ยประกันภัยไม่แพง ผลประโยชน์เริ่มต้น 150,000 บาท สูงสุด 1,500,000 บาท

 

ข้อมูลอ้างอิง

1. มะเร็งปอด. สืบค้นเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2567 จาก https://www.bumrungrad.com/th/conditions/lung-cancer

2. วิธีทดสอบสมรรถภาพปอดเบื้องต้นด้วยตัวคุณเอง. สืบค้นเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2567 จาก https://www.bnhhospital.com/th/article/วิธีทดสอบสมรรถภาพปอดเบ/